แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโจทก์ได้สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 พี่สาว และสมยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และให้ถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้ว ตามคำฟ้องดังกล่าว การยอมความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเรื่องของบุคคลทั้งสองไม่มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เลยเพราะการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 คงยึดได้เฉพาะสินส่วนตัวและสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1488 จะยึดสินสมรสส่วนของโจทก์ไม่ได้ ถ้านำยึดโจทก์ก็ขอกันสินสมรสส่วนของตนได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดสินสมรสส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 ดังกล่าวเช่นนี้ โจทก์จะฟ้องขอห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ยึดสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินส่วนของจำเลยที่ 1ได้ และที่โจทก์ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 นำยึดไว้นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1ได้โจทก์ไม่มีอำนาจใดที่จะขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการยึดทรัพย์ได้การที่จำเลยที่ 2 นำยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ศาลพิพากษายกฟ้องตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่20164/2528 ของศาลชั้นต้นในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2528 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แกล้งสมยอมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอ้อมน้อย จำนวนเงิน 700,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ไม่มีมูลหนี้ จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 แกล้งสมยอมกันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผ่อนชำระตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของโจทก์และที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 ทำการยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปถอนการยึดทรัพย์สินทั้งหมดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 โดยให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการถอนการยึด
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1จริง และมีสิทธิบังคับคดีเอาชำระหนี้จากสินสมรสของจำเลยที่ 1 ได้โจทก์ชอบที่จะขอกันส่วนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกโมฆียะกรรมหรือการฉ้อฉลภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยที่ 2 อ้างสิทธิตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 เฉพาะส่วนที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ไปถอนการยึดทรัพย์ที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ได้นำยึดไว้โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีโจทก์ได้สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 และสมยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และให้ถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมด ตามคำฟ้องดังกล่าว การยอมความของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องของบุคคลทั้งสอง ไม่มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เพราะในการบังคับคดีจำเลยที่ 2 คงยึดทรัพย์ได้เฉพาะสินส่วนตัวและสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 ถ้าจำเลยที่ 2 นำยึดสินสมรสส่วนของโจทก์ โจทก์ก็ขอกันส่วนของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 นำยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 2 ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์