คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ครอบครองให้ไปทำการรังวัดแบ่งแยกได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของซ. ได้ขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยอมขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 46 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยจำเลยแบ่งที่ดินให้กับโจทก์ด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 191 แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทกองมรดกไม่ยอมไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ดังนี้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ได้ความชัดเจนว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปทำการรังวัดแบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ส่วนที่ดินจะกว้างยาวขนาดใดเป็นเรื่องที่จะดำเนินการรังวัดต่อไปฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีการเรียกประชุมทายาทของซ.โดยจำเลยที่ 2 เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งขายให้จำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ไว้ก่อนการประชุมทายาทจึงเป็นเพียงการครอบครองไว้แทนทายาทอื่นทุกคน จำเลยที่ 2มิได้ครอบครองยึดถือไว้เพื่อตนจึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาทและนำเงินค่ารังวัดแบ่งแยกโฉนดชำระให้โจทก์และขอให้จำเลยที่ 2ไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ไปทำการรังวัดแบ่งแยกให้โจทก์ตามคำพิพากษาขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 1,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กับให้จำเลยที่ 2รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์นับแต่วันที่รู้แนวเขตของโจทก์จากการรังวัด หากจำเลยที่ 2 ไม่รื้อถอนให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์วันละ 100 บาท จนกว่าจำเลยที่ 2จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์หรือให้โจทก์จัดหาคนรื้อถอนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นผู้จัดการมรดกของนางซาฟีอา ซูเลมาน เคยถูกโจทก์ฟ้องและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์แต่กระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกโดยทำไปตามความต้องการของบรรดาทายาทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะละเมิดเป็นส่วนตัว ส่วนการละเมิดหรือผิดสัญญาใด ๆ ที่โจทก์อ้างเป็นเรื่องของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทและรับโอนที่ดินไปแล้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2ได้ซื้อที่ดินและชำระราคาให้กองมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 และได้แจ้งเตือนให้จำเลยที่ 2 ไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดแล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จึงได้ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงไม่มีอำนาจที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป โจทก์ชอบที่จะฟ้องร้องเฉพาะจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 46 แต่เป็นของจำเลยที่ 2 ผู้เดียว โจทก์ยังไม่ทราบว่ามีอาณาเขตแค่ไหนอย่างไร จึงไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2ละเมิดสิทธิโจทก์หรือไม่ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะทำให้จำเลยที่ 2ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องและทำให้เสียเปรียบ การซื้อขายที่ดินของโจทก์เกิดจากการฉ้อฉล นายชิน บัวก้านทอง ผู้จัดการมรดกได้ทุจริตเอาที่ดินกองมรดกและของทายาทอื่นไปขายให้บุคคลภายนอกรวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์รู้ดีว่าที่ดินดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างและทายาทปกครองดูแลอยู่มาฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้แบ่งแยกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะโอนที่ดินบางส่วนให้โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวเพื่อให้ไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนด โจทก์ไม่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย จึงไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท จากจำเลยที่ 2 นางซาฟีอาได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทั้งได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวทั้งหมดรวมทั้งส่วนที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 29 ปีเศษแล้ว จึงเป็นของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 46 ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าไม่ไปทำการรังวัดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดกับให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2521 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่ายอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร กับนายชิน บัวก้านทองผู้จัดการมรดกของนางซาฟีอา ซูเลมาน ราคา 420,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนายชิน บัวก้านทอง จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยที่ 1 กับนายณรงค์ สกลวารี เป็นผู้จัดการมรดกของนางซาฟีอา ซูเลมาน แทน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับนายณรงค์ สกลวารี ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางซาฟีอา ซูเลมานให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายและได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความกันว่าฝ่ายจำเลยตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46ทางด้านที่ติดกับที่ดินของนางมาเรียม ฮาซาไนน์ ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยจะไปทำการแบ่งแยกให้โจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายจากกองมรดกศาลพิพากษาตามยอมแล้วปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 1857/2525ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งขายให้จำเลยที่ 2มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่าโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 46ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าวร่วมกันให้ไปทำการรังวัดแบ่งแยกได้
จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อมาว่า ที่ดินตามฟ้องที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งนั้น ยังไม่ทราบแน่นอนว่าอยู่ตรงส่วนไหน มีขนาดกว้างยาวแค่ไหนของที่ดินแปลงพิพาท ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าที่ตรงส่วนใดที่จำเลยที่ 2 ละเมิดรุกล้ำ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางซาฟีอา ซูเลมาน ได้ขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 1 มีนาคม 2525 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่า จำเลยยอมขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 46 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของจำนวนเนื้อที่ดิน 49 1/4 ตารางวา โดยจำเลยแบ่งที่ดินให้กับโจทก์ด้านติดกับที่ดินเลขที่ 191 (ซึ่งเป็นที่ดินของนางมาเรียมฮาซาไนน์) แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทกองมรดกไม่ยอมไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ได้ความชัดเจนว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปทำการรังวัดแบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งด้านที่ติดกับที่ดินของนางมาเรียม ฮาซาไนน์ให้แก่โจทก์ส่วนที่ดินจะกว้างยาวขนาดใดเป็นเรื่องที่จะดำเนินการรังวัดต่อไปได้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว เพราะจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่นางซาฟีอามารดาจำเลยที่ 2 ยกให้จำเลยที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2499 แล้วนั้น เห็นว่า คดีได้ความจากนายณรงค์ สกลวารีพยานโจทก์ และจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนที่จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีหมายเลขแดงที่ 1857/2525 ของศาลชั้นต้นนั้นได้มีการเรียกประชุมทายาทของนางซาฟิอา จำเลยที่ 2 ก็เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้ขายที่พิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งขายให้จำเลยที่ 2 สิ่งก่อสร้างบนที่ดินพิพาทยกให้จำเลยที่ 2 ทั้งหมด ปรากฏตามบันทึกรายงานการประชุมทายาทกองมรดกเอกสารหมาย จ.1 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ไว้ก่อนที่จะประชุมทายาทในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525จึงเป็นเพียงการครอบครองไว้แทนทายาทอื่นทุกคน จำเลยที่ 2มิได้ครอบครองยึดถือไว้เพื่อตนแต่อย่างใด เพราะหากจำเลยที่ 2ครอบครองยึดถือไว้เพื่อตนจำเลยที่ 2 คงไม่ยอมให้มีการซื้อขายที่ดินพิพาทดังที่ปรากฏในบันทึกรายงานการประชุมทายาทกองมรดก เอกสารหมาย จ.1 การครอบครองแทนทายาทอื่นนั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่ามารดาจำเลยที่ 2 ยกที่ดินพิพาทให้และจำเลยที่ 2 ครอบครองปรปักษ์มาจนได้กรรมสิทธิ์มีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างเลื่อนลอยไม่มีพยานอื่นสนับสนุน คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 เรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาแต่เพียงว่าโจทก์มิได้เสียหายโจทก์แกล้งหาเรื่องขายบ้านทำตนเองและครอบครัวลำบากเอง โดยไม่ได้บรรยายในฎีกาให้ชัดเจนว่าโจทก์ไม่ได้เสียหายอย่างไร จึงไม่อาจหักล้างดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าเสียหายโจทก์เตือนละ500 บาทได้”
พิพากษายืน

Share