คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรงบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ เมื่อ ง. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกจึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดากับบุตรทั้งสามและ ญ.ภริยาของเจ้ามรดก แต่ที่ดินพิพาทยังไม่ได้แบ่ง ญ. ก็ถึงแก่ความตายดังนี้ สิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกได้แก่ ญ. จึงเป็นมรดกของญ.ที่ต้องตกได้แก่ผู้คัดค้านกับถ. บิดามารดาและบุตรทั้งสามของ ญ. ผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ง. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของนายสำเริงพุ่มส้มจีน เจ้ามรดก นายสำเริงแต่งงานกับนางสำราญ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือเด็กหญิงนภาพร เด็กหญิงเอมอร และเด็กหญิงสุวารีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2528 นายสำเริงถึงแก่ความตาย ต่อมานางสำราญถึงแก่ความตาย นายสำเริงมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 1 แปลงและไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขณะนายสำเริงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นางสำราญภริยาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่และและทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่ง ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาของนางสำราญย่อมมีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับมรดกของนายสำเริง ขอให้แต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก หรือผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่
ในปัญหาแรก เห็นว่า คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้นหาจำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง บุคคลใดก็ตามที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงคดีนี้เมื่อนายสำเริงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์ของนายสำเริงที่มีอยู่ก่อนสมรสกับนางสำราญและเป็นทรัพย์ที่นายสำเริงมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกที่ต้องตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาบุตรของนายสำเริงทั้งสามคน และนางสำราญภริยาของนายสำเริงคนละส่วนเท่า ๆ กัน แต่ทรัพย์มรดกดังกล่าวยังไม่ได้แบ่ง นางสำราญก็ถึงแก่ความตายเสียก่อน ดังนี้ สิทธิในทรัพย์มรดกของนายสำเริงในส่วนที่ต้องตกได้แก่นางสำราญจึงเป็นมรดกของนางสำราญที่ต้องตกได้แก่ผู้คัดค้าน นางถุง น้อยรูปเราบิดามารดาของนางสำราญรวมทั้งบุตรของนางสำราญทั้งสามคนผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นมรดกของนายสำเริงด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้
ในปัญหาหลังนั้น ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในมาตรา 1713ในข้อที่ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นให้ตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ ในกรณีนี้ควรตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุด และศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
พิพากษายืน

Share