แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกา และขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ด้วย ปรากฏว่าจำเลยมิได้ยื่นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่ต้องสั่งคำร้องเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยขอถอนฎีกาแต่สั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคแรก, มาตรา 310 วรรคแรก ฯลฯ วางโทษฐานพรากผู้เยาว์ จำคุก 3 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ผู้อื่น จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดตามมาตรา 310 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี ผิดตามมาตรา 391 จำคุก จำเลยคนละ 15 วัน เรียงกระทงลงโทษเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 จำคุกคนละ 1 ปี 15 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าฐานพรากผู้เยาว์จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ฯลฯ ให้จำคุก 2 ปีฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังจำเลยที่ 3 ไม่มีความผิด เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ฯลฯ ส่วนจำเลยที่ 3คงจำคุก 15 วัน นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่า บัดนี้จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะฎีกาอีกต่อไปจึงขอถอนฎีกาและขอให้ออกหมายเด็ดขาดให้แก่จำเลยด้วย
ศาลฎีกาฟังว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นฎีกาจึงไม่ต้องสั่งคำร้องเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกาแต่จำเลยที่ 1 ผู้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้ขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ด้วย ฉะนั้น ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1”