คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 196 ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่งมาตรา 108 และไม่ถือว่าเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 119 ทวิ

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4ข่มขู่และจ้างวานให้พยานกลับคำให้การในชั้นสอบสวนและไม่ให้ไปเบิกความเป็นพยานต่อศาล ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วแถลงจริง มีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่กรณีเดียวกับการขอปล่อยชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งให้ถือเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ วรรคสามดังที่จำเลยที่ 4 ฎีกาก็ตาม แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่พยานและเกิดความเสียหายแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยไม่เกิดความเสียหายแก่คดีในระหว่างพิจารณาซึ่งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3118/2523 ระหว่างนายพูลศักดิ์ เมธเมาลีผู้ร้อง พันตำรวจตรีสุขุม เทียมกลิ่น กับพวก ผู้คัดค้านที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มาจึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่มีผลให้จำเลยที่ 4 มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้”
พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาของจำเลยที่ 4 เสีย

Share