คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกแทนที่ต้องฟ้องเรียกมรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษให้นับอายุความ5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงหาใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่ ทรัพย์มรดกคงมีที่ดินเพียงแปลงเดียวจำเลยได้โอนที่ดินมรดกโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตนและท.เป็นผู้รับมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่24ตุลาคม2527โดยมิได้จัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์และเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีกถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้วเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบโจทก์ก็ต้องฟ้องภายในเวลาไม่เกิน5ปีนับแต่วันที่24ตุลาคม2527เมื่อโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16ตุลาคม2534เกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางแจ่ม อินทรประสิทธิ์ เจ้ามรดกมีบุตร 3 คนคือ นายปรีชา อินทรประสิทธิ นางทองหล่อ ชาวศรีษะเกษและจำเลย ต่อมานายปรีชาถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุตรนายปรีชาจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ครั้งวันที่7 กุมภาพันธ์ 2524 นางแจ่มเจ้ามรดกถึงแก่กรรมศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกก่อนตายนางแจ่มมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3386 โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่นในเนื้อที่58 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เฉพาะส่วนของนางแจ่ม มีอยู่ 7 ไร่ 1 งาน40 ตารางวา ผู้มีสิทธิรับมรดก คือ โจทก์ทั้งห้ามในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายปรีชา นางทองหล่อและจำเลยต่างมีส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิรับมรดกตามส่วนจำนวน 2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวาแต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ยอมจัดการแบ่งมรดกให้กลับโอนมรดกให้แก่จำเลยและนางทองหล่อ โจทก์ทั้งห้าเรียกร้องให้จำเลยโอนมรดกส่วนของโจทก์ทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนมรดกของนางแจ่ม ตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3386 เนื้อที่2 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งห้าภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนให้เป็นไปตามคำพิพากษา หากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินตามส่วนให้แก่โจทก์ทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 2,940,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การว่า นางแจ่มไม่มีทรัพย์มรดกกรณีจะเป็นประการใดหากฟังว่าทรัพย์มรดกยังมีอยู่จำเลยก็จัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า5 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง ห้า อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3386 ให้โจทก์ทั้งห้าหนึ่งในสามส่วนของเนื้อที่5 ไร่ 69 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่อาจปฏิบัติได้อีกให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 2,069,000 บาท แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า นางแจ่มเจ้ามรดกมีบุตร 3 คน คือ นายปรีชานางทองหล่อ และจำเลย นายปรีชา ถึงแก่กรรมก่อนนางแจ่มโจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายปรีชา จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางแจ่มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2524 มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 1 แปลง โฉนดเลขที่ 3386 โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้มีชื่อเฉพาะส่วนของนางแจ่มมีเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวาหักเป็นทางสาธารณะและคลองสาธารณะรวมเนื้อที่ 2 ไร่ 70 ตารางวาคงเหลือที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 69 ตารางวา ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2527ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่158/2537 ของศาลชั้นต้นและในวันที่ 24 ตุลาคม 2527 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินมรดกให้แก่ตนเองและนางทองหล่อในฐานะผู้รับมรดกของนางแจ่ม โจทก์ทั้งห้าจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2534
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทรับมรดกแทนที่ต้องฟ้องเรียกมรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า”คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” ซึ่งบทบัญญัตินี้เป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษคือให้นับอายุความ 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง หาใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ทรัพย์มรดกคงมีที่ดินเพียงแปลงเดียวจำเลยได้โอนที่ดินมรดกโดยจดทะเบียนใส่ชื่อตนและนางทองหล่อเป็นผู้รับมรดกโดยมิได้จัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งห้าเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2527 และเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้วเมื่อโจทก์ทั้งห้าเห็นว่าการจัดการมรดกไม่ชอบ โจทก์ทั้งห้าก็ต้องฟ้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2527 เมื่อโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2534 เกินว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นข้ออื่นต่อไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share