คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1640/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การแลกเปลี่ยนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา519กำหนดให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วยดังนี้แม้การแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจะยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตามแต่จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตลอดมาเป็นเวลาประมาณ10ปีอันเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาบางส่วนแล้วสัญญาแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงบังคับได้เช่นเดียวกับสัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองหาเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท ให้จำเลยไปจดทะเบียนนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 4008 ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยรับโอนที่ดินจากโจทก์ด้วย หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ไม่เคยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทกับโจทก์ และไม่เคยสละสิทธิให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 4008 หมู่ที่ 2 ตำบลประจันอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยตกลงนำที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ1 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4008 เอกสารหมาย ล.1 แลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) เอกสารหมาย จ.1 และตกลงจะไปจดทะเบียนโอนสิทธิในภายหลังหลังจากตกลงแลกเปลี่ยนกันแล้วจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี โดยมิได้จดทะเบียนโอนสิทธิแก่โจทก์ คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่าการแลกเปลี่ยนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519บัญญัติว่า บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้นท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย ดังนี้ แม้การแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองตลอดมาเป็นเวลา 10 ปี อันเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาบางส่วนแล้ว สัญญาแลกเปลี่ยนดังกล่าวจึงบังคับได้เช่นเดียวกับสัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง หาเป็นโมฆะไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share