คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนายอำเภอผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ออกคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นราษฎรในเขตท้องที่ที่ตนดูแลอยู่ให้ปิดสถานบริการก่อนเวลาที่ทางราชการกำหนดอันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และปฏิเสธการขอร้องของจำเลยที่จะอนุญาตให้เปิดสถานบริการต่อตามกำหนดเวลาของทางราชการตลอดจนการผลักจำเลยให้พ้นทางของตนโดยไม่ยอมรับฟังจำเลยต่อไปนั้นเป็นการข่มเหงจำเลยราษฎรในความปกครองของตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงเสียหายผู้ข่มเหงตนในขณะนั้นจึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดไปโดยบันดาลโทสะ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะถูกบีบคั้นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอาวุธปืนที่ใช้ยิงก็เป็นของจำเลยและได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายสถานที่ที่จำเลยจำเลยพกอาวุธปืนติดตัวไปก็อยู่ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลยแต่จำเลยกระทำความผิดตอบโต้รุนแรงเกินไปตำแหน่งที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงก็เป็นอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายอันควรแสดงถึงเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายแม้ผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถและจำเลยยืนอยู่จำเลยก็มีความอิสระตามสมควรที่จะเล็งปืนไปที่อวัยวะไม่สำคัญของผู้เสียหายและยิงสู่เบื้องต่ำได้แต่จำเลยหาได้ทำไม่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1346/2536 หมายเลขแดงที่ 2990/2536 ของศาลชั้นต้นระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายประเสริฐ สากลจำเลย แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,371, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายสามารถ กมลลานนท์ผู้เสียหาย แต่กระทำไปโดยบันดาลโทสะและขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 72 และ 371พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 6 เดือน จำเลยลุแก่โทษโดยเข้ามามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืน หัวกระสุนปืนปลอกกระสุนปืน กระสุนปืน แม็กกาซีน เศษรองกระสุนปืนและแกนลูกกระสุนปืนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายสามารถ กมลานนท์ ผู้เสียหายเป็นนายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายมีคำสั่งให้สถานบริการอาหารและเครื่องดื่มที่มีดนตรีบรรเลง และสถานที่เล่นสนุกเกอร์ของจำเลยหยุดบริการจำเลยใช้อาวุธปืนพกยิงผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกที่บริเวณใบหน้าผู้เสียหาย อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่มีใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ อาวุธปืนนั้นเป็นของจำเลยและจำเลยมีใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ตามฎีกาของโจทก์มีปัญหาว่าจำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่หรือไม่และจำเลยกระทำไปโดยบันดาลโทสะหรือไม่ ส่วนตามฎีกาของจำเลยมีปัญหาว่า ควรวางโทษหนักเบาเพียงใดและสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายพยานโจทก์มิได้เบิกความให้เห็นแน่ชัดว่า ตามคำสั่งของทางราชการสถานพักผ่อนหย่อนใจอย่างเช่นสถานบริการของจำเลยต้องหยุดบริการเมื่อใด ซึ่งเวลาที่กำหนดให้หยุดบริการเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ประกอบการสถานที่บริการทุกแห่งจะต้องถือปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ตามคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏว่าผู้เสียหายสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์มารับประทานและดื่มในสถานบริการอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยจนกระทั่งเวลาเกือบ 1 นาฬิกา หรือใกล้ 1 นาฬิกา จึงชำระค่าอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากนั้นจึงมีคำสั่งให้หยุดบริการเพราะเปิดเกินเวลาและให้พนักงานของจำเลยไปตามจำเลยมาเพื่อรับทราบคำสั่งในข้อนี้นายบุญเลิศ เอื้อยสันเที๊ยะ พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับของสถานบริการอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยผู้เป็นตัวแทนของจำเลยไปร่วมประชุมที่ที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมเกี่ยวกับเรื่องเวลาเปิดปิดสถานบริการเบิกความว่า นายอำเภอพนัสนิคมสั่งให้สถานบริการในเขตอำเภอพนัสนิคมเปิดบริการได้ไม่เกิน1 นาฬิกา ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายและนายบุญเลิศประกอบกันแล้ว ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อว่าทางราชการได้สั่งให้สถานบริการในท้องที่อำเภอพนัสนิคมต้องหยุดให้บริการในเวลา 1 นาฬิกา จำเลยเบิกความว่า เมื่อรับทราบคำสั่งจำเลยก็โต้แย้งทันทีว่ายังไม่ถึงเวลาหยุดบริการ นางสาวสุวรรณาขาวผิว และนางสาวดอกพยุง จันทร์งาม พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินและนักร้องของสถานบริการอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยก็เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยชำระค่าอาหารในเวลาประมาณเที่ยงคืน และวงดนตรีหยุดบรรเลงในเวลาประมาณเที่ยงคืนนายสุพจน์ สุชประพันธ์ นายเกรียงศักดิ์ รัตนติกุล และนายสุชาติ สุรกิจบวร พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เล่นสนุกเกอร์ในคืนเกิดเหตุต่างเบิกความตรงกันว่าผู้เสียหายสั่งให้หยุดเล่นสนุกเกอร์ในเวลาเที่ยงคืนเศษ บ่งชัดอยู่ว่าในขณะนั้นยังไม่ถึง1 นาฬิกา นายสุพจน์เป็นครูโรงเรียนพนัสพิทยาคาร ย่อมมีความเคารพต่อผู้เสียหาย ไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจะเบิกความให้ร้ายผู้เสียหาย และตามคำเบิกความของพันตำรวจโทเกษชัย หงษ์นครพยานโจทก์ ผู้รับแจ้งเหตุทางวิทยุสื่อสารว่า พยานได้รับแจ้งเหตุในคดีนี้เวลา 00.40 นาฬิกา แสดงว่าเวลาขณะเกิดเหตุต้องไม่เกิน00.40 นาฬิกา นอกจากนี้นายบุญมาก ฟุ้งโล พยานโจทก์ยังเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายเรียกพนักงานของจำเลยมาเก็บเงิน เมื่อเก็บเงินแล้วผู้เสียหายบอกให้ไปตามเจ้าของร้านมาพบ ประมาณ 5 นาที จำเลยมาพบผู้เสียหายผู้เสียหายบอกให้จำเลยไปบอกให้วงดนตรีหยุดเล่นเพราะร้านเปิดเกินเวลาแล้ว จำเลยขอร้องผู้เสียหายให้มีการเปิดบริการต่อแต่ผู้เสียหายไม่อนุญาต หลังจากนั้นผู้เสียหายเดินไปที่ห้องสนุกเกอร์ พยานเดินตามไปด้วย ผู้เสียหายบอกให้คนที่เล่นสนุกเกอร์หยุดเล่น ผู้เสียหายถามเด็กที่โต๊ะสนุกเกอร์ว่าใครเป็นผู้ดูแลเด็กบอกว่าจำเลยเป็นผู้ดูแล ผู้เสียหายให้เด็กไปตามจำเลยมาพบสักครู่จำเลยก็มา ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ปิด จำเลยขอร้องผู้เสียหายให้เปิดต่อ แต่ผู้เสียหายไม่อนุญาตแล้วผู้เสียหายเดินไปที่รถส่วนพยานไปนั่งด้านคนขับ จำเลยยืนอยู่บริเวณช่องประตูรถที่เปิดอยู่จำเลยขอร้องให้ผู้เสียหายอนุญาตให้เปิดบริการต่ออีก โดยใช้เวลาพูดอยู่ประมาณ 5 นาที แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ผู้เสียหายบอกให้พยานออกรถ ขณะพยานติดเครื่องยนต์จะออกรถก็ได้ยินเสียงปืนดังหลายนัด ดังนี้ แสดงว่าขณะที่ผู้เสียหายออกคำสั่งให้จำเลยหยุดให้บริการในสถานบริการอาหารและเครื่องดื่มและสถานที่เล่นสนุกเกอร์เป็นเวลาก่อนเวลา 00.40 นาฬิกา ที่พันตำรวจโทเกษชัยได้รับแจ้งเหตุจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นเวลานานพอสมควร ขณะที่ผู้เสียหายออกคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นเวลาก่อนเวลา 1 นาฬิกา ที่จำเลยจะต้องปิดสถานบริการตามคำสั่งของทางราชการเป็นอันมากคำสั่งของผู้เสียหายที่ให้จำเลยปิดสถานบริการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยคำสั่งทางราชการ ปรากฏตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนายบุญมากว่า ผู้เสียหายออกตรวจสถานบริการในเวลาประมาณ23 นาฬิกา โดยไปตรวจที่ร้านค้าอาหารบงกชสถานที่เกิดเหตุสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์มารับประทานและดื่มที่สถานที่เกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายไปตรวจที่สถานบริการแห่งอื่น ทั้งนั่งรับประทานอยู่เป็นเวลานาน ที่ว่าผู้เสียหายไปตรวจสถานที่เล่นสนุกเกอร์ ก็ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายก็สั่งให้เล่นที่กำลังเล่นสนุกเกอร์หยุดเล่นโดยตรงไม่ได้สั่งจำเลยเจ้าของสถานบริการให้ไปสั่งให้หยุดเล่น จริงอยู่ตามคำเบิกความของนายสุพจน์ผู้เล่นคนหนึ่งปรากฏว่าพยานไปแสดงคารมผู้เสียหายซึ่งนับว่ารู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่นายเกรียงศักดิ์และนายสุชาติมิได้เบิกความว่ารู้จักผู้เสียหายเป็นส่วนตัว ทั้งผู้เสียหายเองก็มิได้กล่าวถึงว่ารู้จักคนทั้งสองนั้นเป็นการส่วนตัว การใช้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้อยู่ในความปกครองหรือสั่งการย่อมเป็นการผิดวิสัยเว้นแต่จะขอร้องกันเป็นการส่วนตัว วิธีปฏิบัติที่ผู้เสียหายทำไปบ่งชัดว่าไม่ใช่การสั่งการในฐานะเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้เสียหายดังกล่าวมาทั้งหมดจึงมิใช่การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2) ส่วนปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดโดยบันดาลโทสะหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะออกคำสั่งไปโดยไม่ชอบด้วยคำสั่งของทางราชการ แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งและไม่ยอมปฏิบัติตามโดยลบหลู่เกียรติของผู้เสียหาย ซึ่งข้อนี้ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยคงให้ความเคารพนอบน้อมร้องขอผู้เสียหายให้ผ่อนผันโดยขอให้จำเลยได้ทำมาหากิน เพียรพยายามติดตามขอร้องอย่างไม่ลดละถึงกับก้มวอนไหว้ บ่งบอกถึงความขมขื่นและจำเลยต่ออำนาจของผู้เสียหายในฐานะนายอำเภอ แต่ผู้เสียหายก็ยืนกรานปฏิเสธตลอดมาปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวสุวรรณาและนางสาวดอกพยุงพยานโจทก์ว่า ผู้เสียหายเคยไปสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่สถานบริการของจำเลยมาก่อน ประมาณ 4 ถึง 5 ครั้ง หากผู้เสียหายพอใจต่อการบริการเมื่อถึงเวลา 1 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ก็อนุญาตให้ดำเนินการให้บริการต่อไป บางครั้งจนถึงเวลา 3 นาฬิกา ก็มี แต่หากไม่พอใจก็จะสั่งให้หยุดบริการทันที ซึ่งมีความหมายว่าในทันทีเมื่อถึงเวลา 1 นาฬิกา แสดงถึงการที่ผู้เสียหายเอาความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความรับว่าผู้เสียหายบอกจำเลยว่าจะขอพูดกับบิดาจำเลยเอง เนื่องจากผู้เสียหายรู้จักกับบิดาจำเลยบิดาจำเลยเคยพูดฝากจำเลยกับผู้เสียหายให้ช่วยดูแลจำเลยด้วยอันเป็นการกล่าวพาดพิงถึงบิดาของจำเลยอันเป็นบรรพบุรุษของจำเลยซึ่งในขณะนั้นไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงประกอบกับจำเลยเบิกความว่าผู้เสียหายผลักจำเลย ทำให้จำเลยโกรธและลืมตัวจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ข้อนี้ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายยังไม่ได้ปิดประตูรถ มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยยืนขอร้องขวางประตูรถในขณะผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถ เมื่อผู้เสียหายสั่งให้นายบุญมากออกรถรถจึงยังออกไม่ได้ เพราะติดที่จำเลยยืนขวางอยู่ ผู้เสียหายจึงต้องผลักจำเลยไปให้พ้น จำเลยถูกข่มเหงน้ำใจและผลักไสอย่างไร้เกียรติ แต่ได้อดกลั้นจนที่สุดแล้ว จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในทันที เมื่อผู้เสียหายผลักไสโดยไม่มีเวลาไตร่ตรอง การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นพนักงานในตำแหน่งนายอำเภอผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบได้ออกคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นราษฎรในเขตท้องที่ที่ตนดูแลอยู่ให้ปิดสถานที่บริการก่อนเวลาที่ทางราชการกำหนด อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และปฏิเสธการขอร้องของจำเลยที่จะอนุญาตให้เปิดสถานบริการต่อตามกำหนดเวลาของทางราชการ ตลอดจนการผลักจำเลยให้พ้นทางของตนโดยไม่ยอมรับฟังจำเลยต่อไปนั้น เป็นการข่มเหงจำเลยราษฎรในความปกครองของตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายผู้ข่มเหงตนในขณะนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดไปโดยบันดาลโทสะ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า สมควรวางโทษเพียงใดและสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดไปเพราะถูกบีบคั้นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ อาวุธปืนที่ใช้ยิงก็เป็นของจำเลยและได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายสถานที่ที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปก็อยู่ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลยโทษที่ศาลล่างทั้งสองวางแก่จำเลยจึงหนักเกินไป สมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยกระทำความผิดตอบโต้รุนแรงเกินไป ตำแหน่งที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงก็เป็นที่อวัยวะสำคัญของผู้เสียหายอันแสดงถึงเจตนาจะฆ่าผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถและจำเลยยืนอยู่ จำเลยก็มีความอิสระตามสมควรที่จะเล็งปืนไปที่อวัยวะไม่สำคัญของผู้เสียหายและยิงสู่เบื้องต่ำได้แต่จำเลยหาได้ทำไม่ พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษแก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80และ 72 จำคุก 3 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิวรรคสอง ปรับ 1,500 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 1,500 บาท จำเลยลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่รอการลงโทษไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 1

Share