แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะ แม้ใช้เป็นเวลานานเท่าใดก็ไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาท โจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นบุตร ค.และพ. โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3924 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3926 จำเลยที่ 5 ที่ 6เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5458 ที่ดินทั้งสามแปลงเดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกัน มี ค. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสามแปลงมีบ้านปลูกอยู่ 4 หลัง รวมทั้งบ้านของ ค.บ้านของค. อยู่ติดแม่น้ำ ถ้าจะออกสู่ถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะก็เดินผ่านทางพิพาทที่อยู่ในที่ดินของจำเลย ทั้งหกซึ่งเป็นบุตรหลานและญาติของตน ลักษณะเป็นการขออาศัย กันในระหว่างหมู่ญาติอันเป็นการเดินโดยถือวิสาสะ โจทก์ เป็นบุตรผู้อาศัยอยู่ในบ้าน ค. ก็เดินผ่านทางพิพาทในลักษณะเดียวกัน หลังจาก ค. ตายก็มิได้เปลี่ยนเจตนาเป็นการใช้ทางพิพาทด้วยเจตนาเป็นทางภารจำยอม การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะ แม้จะใช้เป็นเวลานานเท่าใดโจทก์ก็ไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 3926 และ 5458 ของจำเลยทั้งหก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมให้จำเลยทั้งหกเปิดทางพิพาทและไปดำเนินการจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวนวลจันทร์ อยู่ฤทธิ์ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรนายคุ่ยและนางพริ้ง สมใจ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3924 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3926 จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5458 ที่ดินทั้งสามแปลงตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เดิมที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่ดินผืนเดียวกันนายคุ่ยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโจทก์และผู้อาศัยอยู่ในที่ดินใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 40 ปี จนกระทั่งปี 2534 จำเลยที่ 3 ทำรั้วลวดหนาม และประตูรั้วสังกะสี นำแผ่นคอนกรีตมาวางเป็นแนวทางเดินบนทางพิพาทจากประตูรั้วถึงบ้านโจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหรือไม่ ตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ที่ดินทั้งสามแปลงได้ออกโฉนดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2470 วันที่ 9 มีนาคม 2470 และวันที่ 8ตุลาคม 2499 ตามลำดับ โดยนายคุ่ยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 จ.2 พยานโจทก์มีนางสาวนวลจันทร์ อยู่ฤทธิ์ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์กับหลานโจทก์และจำเลยที่ 3 คือนางสุมิตรา ธีระพันธ์พงศ์นายปรีดา จุใจ เป็นพยานเบิกความว่า เดิมที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 เป็นที่ดินผืนเดียวกัน มีบ้านปลูกอยู่4 หลัง คือบ้านของนายคุ่ย นางสาว (เป็นน้องนายคุ่ย)นายไปล่ และนางทองสุข จุใจ (นางทองสุขเป็นน้องจำเลยที่ 3เป็นพี่โจทก์) และจำเลยที่ 3 บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้วบ้านบ้านนายคุ่ยอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หากจะเดินทางทางเรือก็อาศัยเดินผ่านที่ดินบ้านนายคุ่ยไปลงเรือ หากจะเดินทางทางบกก็อาศัยเดินผ่านทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ พยานจำเลยทั้งหกมีจำเลยที่ 3 เบิกความว่า โจทก์อาศัยอยู่ที่บ้านนายคุ่ยตลอดมาจนถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 5 ที่ 6 เบิกความว่า จำเลยที่ 5 ที่ 6เป็นลูกพี่ลูกน้องกับโจทก์และจำเลยที่ 3 เห็นว่า ที่ดินทั้งสามแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายคุ่ยมาก่อน บ้านนายคุ่ยอยู่ติดแม่น้ำถ้าจะออกสู่ถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะก็เดินผ่านทางพิพาทที่อยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นบุตรหลานและญาติของตน ลักษณะเป็นการขออาศัยกันในระหว่างหมู่ญาติอันเป็นการเดินโดยถือวิสาสะโจทก์เป็นบุตรผู้อาศัยอยู่ในบ้านนายคุ่ยก็เดินผ่านทางพิพาทในลักษณะเดียวกัน หลังจากนายคุ่ยตายก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนเจตนาเป็นการใช้ทางพิพาทด้วยเจตนาเป็นทางภารจำยอม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยถือวิสาสะ แม้จะใช้เป็นเวลานานเท่าใดโจทก์ก็ไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาท”
พิพากษายืน