คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพ.ศ.2521ตอนที่2ข้อ16มีว่าให้งดจ่ายเงินเดือนพนักงานระหว่างที่ถูกสอบสวนและข้อ16.3มีว่าถ้าได้ความเป็นสัตย์จริงและพนักงานถูกลงโทษถึงเลิกจ้างมิให้จ่ายเงินเดือนตลอดเวลาที่ถูกสั่งพักงานข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนและจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่12เมษายน2536และเมื่อวันที่19พฤศจิกายน2536ผลการสอบสวนปรากฎว่าโจทก์กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่12เมษายน2536อันเป็นวันแรกที่พักงานได้โดยไม่จำต้องเลิกจ้างล่วงหน้าหรือบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใดระเบียบจำเลยดังกล่าวข้อ16และข้อ16.3ใช้บังคับได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างถูกสั่งพักงานดังกล่าว ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในค้าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างระหว่างถูกพักงานกับค่าทนายความที่จำเลยอ้างว่าออกให้โจทก์ซึ่งไม่เป็นความจริงและมีคำขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว5รายการให้แก่โจทก์ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างและมีคำขอเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลรวมอยู่ด้วยเพิ่งจะกล่าวถึงค่ารักษาพยาบาลก็ต่อเมื่อศาลแรงงานนัดสอบข้อเท็จจริงโจทก์โดยในวันเวลาดังกล่าวโจทก์จำเลยได้แถลงสละข้ออ้างและข้อต่อสู้สำหรับประเด็นอื่นทั้งหมดคงติดใจเฉพาะที่โจทก์เรียกร้องเกี่ยวกับเงินค่าทนายความค่าเครื่องแต่งกายค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวันค่ารักษาพยาบาลและค่าจ้างระหว่างถูกพักงานดังนั้นค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มาแถลงเพิ่มเติมในภายหลังโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องหรือมีคำขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยคืนค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ขอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา52

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2518 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้จัดการต้อนรับบนเครื่องบินได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 69,730 บาทต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2536 โจทก์นำยานอนหลับ จำนวน 4,610เม็ด ซึ่งเป็นของต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นและถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศญี่ปุ่นสั่งห้ามโจทก์เข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปีและโจทก์ผิดบังความผิดดังกล่าวโดยแจ้งเท็จต่อจำเลย ทำให้จำเลยเสียหายต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริงอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างระห่วางถูกพนักงานกับค่าทนายความที่จำเลยอ้างว่าออกให้โจทก์ขณะถูกควบคุมตัว ณ ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่เป็นความจริงจำนวน 282,255 บาท ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม และให้นับอายุงานต่อเนื่องถือเสมือนว่าไม่มีการเลิกจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2536 จำนวน 48,810 บาท ค่าจ้างระหว่างพักงาน 504,380 บาท กับให้จำเลยคืนเงินที่หักเป็นค่าทนาย จำนวน 282,255 บาท หากศาลเห็นว่าจำเลยไม่ควรรับโจทก์กลับเข้าทำงานก็ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาทค่าชดเชย 418,380 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 95,297บาท
จำเลยให้การว่า ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเที่ยวบิน และค่าล่วงเวลาไม่เป็นค่าจ้างและมีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำเลยจะมอบหมายงานให้โจทก์ปฎิบัติหน้าที่ในแต่ละเดือนหรือไม่ โจทก์ปฎิบัติหน้าที่ให้กับจำเลยในฐานะผู้จัดการพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้ลักลอบนำยานอนหลับซึ่งเป็นสารควบคุมต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นและถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศญี่ปุ่นควบคุมตัวดำเนินคดีอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารบุคคล พ.ศ.2521ตอน 2 ข้อ 3.9, 3.10, 3.16 และข้อ 6.3 อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และโจทก์ไม่มีสิทธิ์รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยจำเลยได้จ่ายให้โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่หักจากค่าทนายความ 273,589.34 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน 8,495 บาทค่ารักษาพยาบาล 3,377 บาท แก่โจทก์ กับให้โจทก์คืนเครื่องแต่งกายรวม 12 รายการ ตามเอกสารหมาย จล.4 เป็นเงิน 16,439.566บาท กับคู่มือการปฎิบัติงานของพนักงานบนเครื่องบินเป็นเงิน2,681.434 บาท แก่จำเลย แล้วให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ตามรายการส่วนที่โจทก์คืนให้ตามส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าระเบียบจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521 ตอนที่ 2ข้อ 16 ที่ให้งดจ่ายเงินเดือนพนักงานระหว่างที่ถูกสอบสวน และข้อ 16.3 ที่ว่าถ้าได้ความเป็นสัตย์จริงและพนักงานถูกลงโทษถึงเลิกจ้าง มิให้จ่ายเงินเดือนตลอดเวลาที่ถูกสั่งพักงานนั้นนำมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะการเลิกจ้างตามกฎหมายต้องเลิกจ้างล่วงหน้าด้วย เห็นว่า โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกจำเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนและจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2536 เมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2536 ผลการสอบสวนปรากฎว่าโจทก์กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน2536 อันเป็นวันแรกที่พักงานได้โดยไม่จำต้องเลิกจ้างล่วงหน้าหรือบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด ระเบียบจำเลยดังกล่าว ข้อ 16และข้อ 16.3 ใช้บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างระหว่างถูกสั่งพักงานดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าจ้างระหว่างถูกพักงานค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทนายความ และศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นชี้สองสถานว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าจ้างระหว่างถูกพักงาน ค่าชดเชย และค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพียงใด และจำเลยมีสิทธิหักค่าทนายความจำนวน282,255 บาท หรือไม่ เพียงใด ต่อมาโจทก์จำเลยได้แถลงสละข้ออ้างและข้อต่อสู้ทั้งหมดคงเหลือเพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับค่าจ้างระหว่างถูกพักงาน ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2536 ถึงวันที่19 พฤศจิกายน 2536 จำนวน 236,747 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนค่ารักษาพยาบาลจำนวน 3,777 บาท จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2536 เป็นเงินจำนวน 48,810 บาท ค่าชดเชยจำนวน418,380 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 95,297 บาทและค่าจ้างระหว่างถูกพักงานตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2536 จำนวน 504,380 บาท กับค่าทนายความที่จำเลยอ้างว่าออกให้โจทก์ ซึ่งไม่เป็นความจริงจำนวน 282,255บาท และมีคำขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว 5 รายการ ให้แก่โจทก์ ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างและมีคำขอเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลรวมอยู่ด้วย เพิ่งจะมีกล่าวถึงค่ารักษาพยาบาลก็ต่อเมื่อศาลแรงงานกลางนัดสอบข้อเท็จจริงโจทก์ โดยในวันเวลาดังกล่าวโจทก์จำเลยได้แถลงสละข้ออ้างและข้อต่อสู้สำหรับประเด็นอื่นทั้งหมดคงติดใจเฉพาะที่โจทก์เรียกร้องเกี่ยวกับเงินค่าทนายความค่าเครื่องแต่งกาย ค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน ค่ารักษาพยาบาลและค่าจ้างระหว่างถูกพักงาน ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่21 กันยายน 2538 ดังนั้น ค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มาแถลงเพิ่มเติมในภายหลัง โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องหรือมีคำขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาลจำนวน3,377 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share