แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์สร้างความรำคาญให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยบอกกล่าวห้ามปรามแล้ว โจทก์ไม่เชื่อฟัง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขจัดความเดือดร้อน หามีสิทธิที่จะสร้างรั้วอิฐบล็อกปิดกั้นทางลมและแสงสว่างมิให้พัดและส่องสว่างเข้าทางประตูหน้าต่างตึกแถวของโจทก์ไม่
จำเลยเป็นผู้สร้างตึกแถวของโจทก์โดยผนังตึกแถวด้านหลังมีประตูและหน้าต่างติดกับเขตที่ดินของจำเลย แม้จะเป็นการผิดเทศบัญญัติก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิอ้างเหตุดังกล่าวก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกติดกับผนังตึกแถวด้านหลังของโจทก์ จนเป็นเหตุให้ปิดกั้นทางลมและแสงสว่างที่จะผ่านเข้าออกทางด้านหลังของตึกแถวของโจทก์โดยที่โจทก์มิได้ยินยอมด้วย และแม้จำเลยจะก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายกำแพงคอนกรีตออกห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งห้า 50 เซนติเมตร ให้มีส่วนสูงไม่เกิน 3 เมตร ทางทิศตะวันตกของอาคารของโจทก์ทั้งห้าและไม่ให้เกี่ยวข้องอีก และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งห้าคนละ 50,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 500 บาท ให้โจทก์ทั้งห้า นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายกำแพงออกจากที่พิพาทเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกด้านหลังตึกแถวเลขที่ 136/1ถึง 136/6 ถนนหลังเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 10,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 พฤษภาคม 2540) จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วดังกล่าวเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2520 จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 205 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 136/1 ถึง 136/10 รวม 10 คูหา เพื่อขายแก่บุคคลโดยทั่วไป เมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2520 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 136/4 และ 136/5 จากจำเลย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2520 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 136/2จากจำเลย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 นางเง็กหลุน แซ่อึ้ง ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่136/3 จากจำเลย ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2532 นางสาวสุกัญญา แซ่เล้า ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเง็กหลุน ผู้ตายขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 3เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2520 โจทก์ที่ 4 ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 136/1 จากจำเลยและเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2521 นายอดุลย์ แซ่เอ็ง ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 136/6จากจำเลย ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2527 นายอดุลย์ขายที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 5 ตึกแถวแต่ละคูหาดังกล่าวมีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร ด้านหลังของตึกแถวมีประตูหน้าต่าง มีพื้นคอนกรีตและชายคา และผนังตึกแถวทางด้านหลังติดกับที่ดินของจำเลยซึ่งในขณะนั้นเป็นที่โล่ง ยังไม่มีรั้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534บริษัทภูอินน์ จำกัด ทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 36 ถนนสถิตย์ยุติธรรม ตำบลในเมืองอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 205 ซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าทางด้านทิศตะวันตกและทางทิศเหนือของตึกแถวบางส่วนกับจำเลย บริษัทภูอินน์ จำกัดจะล้อมรั้วรอบที่ดินที่เช่าตามสัญญาดังกล่าว แต่ถูกโจทก์ทั้งห้าและเจ้าของตึกแถวข้างเคียงที่ติดกับที่ดินที่เช่าคัดค้านไม่อนุญาตให้บริษัทภูอินน์ จำกัด ล้อมรั้วในเขตที่ดินจำเลยชิดกับอาคารของโจทก์ทั้งห้าและเจ้าของตึกแถวข้างเคียงดังกล่าว บริษัทภูอินน์จำกัด จึงไม่สามารถล้อมรั้วตามสัญญาเช่าได้ และเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบที่ดินที่เช่าทั้งหมดตามสัญญาเช่าให้แก่บริษัทภูอินน์ จำกัด ได้ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เมื่อประมาณกลางปี 2539 จำเลยสร้างรั้วอิฐบล็อกสูงประมาณขอบวงกบด้านบนของประตูและหน้าต่างชั้นล่างชิดกับผนังด้านหลังตึกแถวของโจทก์ทั้งห้า ลมและแสงสว่างไม่สามารถพัดและส่องผ่านเข้าทางประตูและหน้าต่างชั้นล่างด้านหลังตึกแถวของโจทก์ทั้งห้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจำเป็นต้องสร้างรั้วอิฐบล็อกเนื่องจากฝ่ายโจทก์สร้างความรำคาญให้แก่จำเลย เช่นทิ้งขยะสิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำทิ้งลงบนที่ดินของจำเลย เมื่อจำเลยบอกกล่าวห้ามปรามแล้วไม่เชื่อฟัง เห็นว่า กรณีเช่นนี้จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขจัดความเดือดร้อน หามีสิทธิที่จะสร้างรั้วอิฐบล็อกปิดกั้นทางลมและแสงสว่างมิให้พัดและส่องสว่างเข้าทางประตูหน้าต่างตึกแถวของโจทก์ทั้งห้าไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า กรณีผนังด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผนังร่วมนั้น ตามระเบียบกฎหมายไม่อนุญาตให้มีช่องลมประตู หน้าต่าง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยเว้นช่อง สำหรับแดด ลมและแสงสว่างได้ จำเลยเคยอนุโลมให้ฝ่ายโจทก์ใช้ประโยชน์จากช่องลมและหน้าต่างโดยมีข้อแม้ว่าจำเลยจะปิดเมื่อจำเลยจะใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวมีเพียงคำเบิกความของจำเลยลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งห้าว่า มีการเปิดหน้าต่างด้านหลังอาคารตั้งแต่แรก และก็มีการคัดค้านการก่อสร้างรั้วคอนกรีตกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2521 แสดงว่าฝ่ายโจทก์หรือผู้ซื้อรายอื่นมิได้มีการตกลงกันดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนที่จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2534 เพื่อให้โจทก์ทั้งห้าทราบเรื่องการก่อสร้างรั้วคอนกรีตการละเมิดสิทธิในที่ดินและเรื่องสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวเขตนั้น ก็เป็นระยะเวลาภายหลังจากก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวเสร็จแล้วเกือบถึง 14 ปี และเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทั้งห้าและผู้ซื้อรายอื่นมีหนังสือคัดค้าน บริษัทภูอินน์ จำกัด ผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่จะก่อสร้างรั้วและกำแพงติดกับที่ดินและตึกแถวของโจทก์ทั้งห้า ดังนั้น การที่จำเลยเป็นผู้สร้างตึกแถวของโจทก์ทั้งห้าโดยผนังตึกแถวด้านหลังมีประตูและหน้าต่างติดกับเขตที่ดินของจำเลย แม้จะเป็นการผิดเทศบัญญัติก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยไม่มีสิทธิอ้างเหตุดังกล่าวก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกติดกับผนังตึกแถวด้านหลังของโจทก์ทั้งห้าจนเป็นเหตุให้ปิดกั้นทางลมและแสงสว่างที่จะผ่านเข้าออกทางด้านหลังของตึกแถวของโจทก์ทั้งห้าโดยที่โจทก์ทั้งห้ามิได้ยินยอมด้วยและแม้จำเลยจะก่อสร้างในเขตที่ดินของจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งห้าเพียงใด ค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 1 นั้น คงมีเพียงนางสาวอัญชลี อังวราวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า หลังจากจำเลยสร้างตึกดังกล่าวเสร็จ พยานและโจทก์ที่ 1 ก็เข้าอยู่ในตึกดังกล่าว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยก่ออิฐบล็อกทำให้ประตูหน้าต่างตึกแถวด้านหลังไม่สามารถเปิดได้และอากาศไม่สามารถถ่ายเทเข้าไปในตึกของโจทก์ที่ 1 หากเวลาจะทำอาหารในตึกดังกล่าว แก๊สที่ใช้หุงต้มอาหารก็ไม่สามารถถ่ายเทออกจากตึกดังกล่าวได้ ทำให้แก๊สหมุนเวียนอยู่ในตึกและกระจายขึ้นไปบนชั้นสองของตึกทำให้พยานหายใจไม่สะดวก จึงเป็นเหตุให้พยานเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วและความดันโลหิตสูง โจทก์ที่ 1 ไม่เป็นโรคอะไรเนื่องจากทำงานอยู่ด้านนอกตึกจะเข้าในตึกดังกล่าวเฉพาะในเวลาค่ำ ซึ่งไม่มีกลิ่นอะไรหลงเหลืออยู่ในตึกแล้ว เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายเฉพาะตัวโจทก์ที่ 1 เท่านั้น เมื่อได้ความว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เป็นโรคอะไรเนื่องจากทำงานอยู่ด้านนอกตึกและเข้าในตึกดังกล่าวเฉพาะในเวลาค่ำซึ่งไม่มีกลิ่นอะไร แต่ยังคงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เสียหายเพราะอากาศไม่ถ่ายเทดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าวเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เหมาะสมเป็นค่าเสียหาย 3,600 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าว ฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 2 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ว่า เดิมตึกแถว 2 คูหาของโจทก์ที่ 2 ใช้เป็นโกดังเก็บของและบางครั้งก็ไปนอกพักอาศัยโจทก์ที่ 2 เคยทำอาหารในตึกดังกล่าว แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำอาหารเพราะอากาศไม่สามารถถ่ายเทออกไปทางด้านหลังตึก เคยมีบุคคลเช่าตึกแถวของโจทก์ที่ 2 ทำสถานเสริมสวย ต่อมาก็ไม่เช่า โดยอ้างว่าด้านหลังทำประโยชน์ไม่ได้และอากาศไม่ถ่ายเท ปัจจุบันไม่มีคนเช่าตึกของโจทก์ที่ 2 เห็นว่า แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีคนเช่าหรืออาศัยในตึกแถวของโจทก์ที่ 2 ก็เนื่องจากอากาศไม่ถ่ายเทออกไปทางด้านหลังตึกแถว ซึ่งเป็นผลจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 500บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าวเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสูงไป สมควรกำหนดให้เหมาะสมเป็นค่าเสียหาย 1,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าว ฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 4 นั้น รับฟังได้ตามที่โจทก์ที่ 4 เบิกความว่า การที่จำเลยก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 4 เดือดร้อนในสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้อากาศถ่ายเทไม่ได้เหมือนปกติ ส่วนที่โจทก์ที่ 4 อ้างว่าเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และบุตรชายเป็นโรคหลอดลมอักเสบนั้น ก็เป็นการอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าวเสร็จสิ้นศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เหมาะสมเป็นค่าเสียหาย 3,600 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าว ฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 5 นั้นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 5 ว่า โจทก์ที่ 5 ปิดประตูด้านหลังตึกแถวเนื่องจากตกแต่งเป็นร้ายขายยาและใช้อยู่อาศัยก่อนได้รับหนังสือบอกกล่าวจากจำเลย แต่เปิดเฉพาะหน้าต่าง โจทก์ที่ 5 ยังต้องการแสงสว่างทางหน้าต่างด้านหลังตึกแถวดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหาย มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 10,000 บาทและค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าวเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เหมาะสมเป็นค่าเสียหาย 3,600บาท และค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกดังกล่าว ฎีกาของจำเลยในเรื่องค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 3,600บาท และค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกเสร็จและชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วอิฐบล็อกเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4