แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์โดยไม่มีสิทธิมิได้บัญญัติบทกำหนดโทษไว้ในมาตราหนึ่งมาตราใดและตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่3)พ.ศ.2528มาตรา3ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา7แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ.2495และให้ใช้ความใหม่แทนได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา7ว่าการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน(4)ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลมนั่นก็คือให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลมซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่3)พ.ศ.2528มาตรา3มีเจตนารมณ์เพียงว่าในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา7(4)ให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้นมิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับทั้งหมดดังนั้นจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ.2482มาตรา72ซึ่งอยู่ในหมวด9อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษโดยเฉพาะมาใช้บังคับโดยอนุโลมหาได้ไม่ฉะนั้นเมื่อจำเลยไปใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ในวันเกิดเหตุโดยไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งถือว่าการกระทำของจำเลยในขณะนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยไม่ได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา2วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ. 2495 มาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528มาตรา 3 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 72 และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนดเวลา 4 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยอัยการพิเศษประจำเขต 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ แต่จำเลยไปใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ในวันเกิดเหตุณ หน่วยเลือกตั้งที่ 2 จนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” ความปรากฎว่าพระราชบัญญัติ สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์โดยไม่มีสิทธิ มิได้บัญญัติบทกำหนดโทษไว้ในมาตราหนึ่งมาตราใดและตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3ซึ่งให้ยกเลิกความใน มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาลพ.ศ. 2495 และให้ใช้ความใหม่แทน ได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ว่า “การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน (4)ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม” เมื่อพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 บัญญัติวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล ตามความใน (4) แห่งมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวคือให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าพระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3มีเจตนารมณ์เพียงว่าในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล ตามมาตรา 7(4)ให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลไว้ มิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับทั้งหมด ดังนั้นจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 72ซึ่งอยู่ในหมวด 9 อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษโดยเฉพาะมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยไปใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ในวันเกิดเหตุโดยไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าการกระทำของจำเลยในขณะนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2531 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม โจทก์นายหลับ แสงโสม จำเลย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน