คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่1แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อจำเลยที่2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่1และที่2เป็นสามีภรรยากันผู้ร้องได้อ้างในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกแล้วว่าจำเลยที่1และที่2เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้ง6รายการเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่1และที่2ถือว่าจำเลยที่1มีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่1กับที่2อยู่ด้วยผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา290วรรคสี่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา14วันนับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์สินระยะเวลา14วันนั้นนับแต่วันสิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีรวม6รายการซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยและได้ขายทอดตลาดไปรวม4รายการในการขายทอดตลาดครั้งแรกคงเหลือที่ดินพิพาทซึ่งได้ขายทอดตลาดไปในการขายทอดตลาดครั้งที่สองดังนั้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาคราวนั้นในครั้งที่สองเป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนวันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมดผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีกแม้หลังจากขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่2ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีกเมื่อพ้นระยะเวลา14วันนับแต่วันขายทอดตลาดครั้งที่2ก็มิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1หมดไปเพราะผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่1ได้ทั้งหมดตามคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งแรกซึ่งศาลได้อนุญาตแล้ว

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันคืนเงินซื้อที่ดินพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดิน 2 แปลง ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายตามฟ้องให้โจทก์ถ้าไม่อาจโอนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ต่อมาปรากฏว่าการโอนขัดข้องเพราะที่ดินเป็นชื่อของบุคคลอื่น และจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเสียหาย โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดี 6 รายการ โจทก์ประมูลได้ 4 รายการ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1726, 5878 ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 178 ที่ดินทั้งสามแปลงตั้งอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมืองกระบี่จังหวัดกระบี่ และโรงเรือนมุงสังกะสี ไม่มีเพดาน เลขที่ 7/3ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1726 และเลขที่ 5878 ในราคา1,100,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้น แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่โจทก์ในคดีนี้ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้วทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์คัดค้านว่า หนี้ระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเกิดจากการสมยอมไม่มีผลผูกพันลูกหนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีก ทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกนอกจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้
ผู้ร้องได้รับส่วนเฉลี่ยแล้วจำนวนหนึ่ง จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้ผู้ร้องอีก ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่เหลือคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 ภรรยาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ประมูลได้ในราคา300,000 บาท
โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่ได้จากการขายตลาดทรัพย์ครั้งที่ 2ทั้งหมด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อ้างว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์แล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 1732เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ซื้อมาระหว่างเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1จึงถือว่าเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องหลังจากสิ้นระยะเวลา14 วัน นับตั้งแต่วันขายทอดตลาด ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินในวันที่25 มกราคม 2538
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองในคดีนี้ ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 48/2534 ของศาลจังหวัดกระบี่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์รวม 6 รายการ ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2534เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่ยึดมาได้ทั้ง 6 รายการ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายได้รวม 4 รายการส่วนอีก 2 รายการไม่อนุญาตให้ขาย และให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และบ้านเลขที่ 7/9 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1732ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536 และผู้ร้องได้รับส่วนเฉลี่ยจากการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งแรกไปแล้ว วันที่ 25 มกราคม 2538 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เหลือได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1732ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนบ้านเลขที่ 7/9โจทก์ขอถอนการยึดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอกศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ในราคา 300,000 บาทวันที่ 1 มีนาคม 2538 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ได้จากการขายทอดตลาดในครั้งที่ 2
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์จากการขายทอดตลาดในครั้งที่ 2 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 จะมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นสามีภรรยากัน ผู้ร้องได้อ้างในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งแรกแล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดทั้ง 6 รายการเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์มิได้คัดค้าน ที่ดินโฉนดเลขที่ 1732จึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 1มีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2535แม้จะพ้นกำหนด 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งแรกและผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม2538 พ้นกำหนด 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่ 2 ก็ตามแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลา14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งหมายความว่า ระยะเวลา14 วันนั้นนับแต่วันสิ้นสุดการขายทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 464/2514 ระหว่างบริษัทยางไฟร์สะโตน (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์บริษัทสหยู่ฮงเส็งบราเดอร์ส จำกัด กับพวกจำเลย คดีนี้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อบังคับคดีรวม 6 รายการ ซึ่งมีที่ดินโฉนดเลขที่ 1732รวมอยู่ด้วยและได้ขายทอดตลาดไปรวม 4 รายการ ในการขายทอดตลาดครั้งแรกคงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 1732 ซึ่งได้ขายทอดตลาดไปในการขายทอดตลาดครั้งที่สอง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เข้ามาก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาคราวนั้นในครั้งที่สอง เป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนวันสิ้นสุดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดมาในคราวนั้นทั้งหมด ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีก แม้หลังจากขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่ 2 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อีกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538พ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาดครั้งที่ 2 ก็มิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 หมดไป เพราะผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดตามคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งแรกซึ่งศาลได้อนุญาตแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น อีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินในครั้งที่สองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2538 ด้วยนั้น ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share