คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อกำหนดที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาที่เช่าซื้อที่จำเลยต้องรับผิดนั่นเองข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ถ้าเห็นว่าสูงเกินส่วน ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่ใช่ค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระดังที่สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ1.75ต่อเดือนหากแต่เป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224วรรคหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นผู้นำกระบะบรรทุกมาติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อกระบะบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นส่วนควบของรถยนต์ที่เช่าซื้อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์อันถือได้ว่าเป็นเจ้าทรัพย์เป็นประธานย่อมเป็นเจ้าของกระบะบรรทุกที่ติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่ผู้เดียวแต่ต้องใช้ค่ากระบะรถบรรทุกนั้นให้แก่จำเลยที่1ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1316วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จากโจทก์ในราคา 1,398,400 บาทตกลงผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 29,134 บาท ต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 สิงหาคม 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตั้งแต่งงวดที่ 9 ประจำวันที่ 20 เมษายน 2534 เป็นต้นมา เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไปอีกจนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2534 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้ในสภาพชำรุด และนำออกประมูลขายได้เป็นเงินเพียง 450,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเป็นค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่เช่าซื้อ 700,599 บาทค่าใช้ทรัพย์ 95,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ 38,000 บาท ค่าติดตามยึดรถคืนจำนวน 6,700 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 840,299 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 27เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์บรรทุกตามฟ้อง ซึ่งไม่มีกระบะบรรทุกจากตัวแทนจำหน่ายในราคาเงินสด 1,040,000 บาทได้ชำระเงินล่วงหน้า 120,000 บาท ส่วนที่ยังขาดอยู่ 920,000บาท ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1ได้ต่อเติมชุดกระบะบรรทุกพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 230,000 บาทในระหว่างสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดเวลาหลายงวด ซึ่งโจทก์ก็ยอมชำระโดยไม่อิดเอื้อนถือว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระเงินเป็นสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัด การที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนไปโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ถือได้ว่า คู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันเป็นผลให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม มิใช่เพราะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงคงคิดค่าเสียหายได้เฉพาะค่าใช้ทรัพย์นับแต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อวันสุดท้ายจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนไปเป็นเงิน45,000 บาทเท่านั้น ทั้งโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี พร้อมมีชุดกระบะบรรทุกของจำเลยที่ 1ติดไปด้วย แม้โจทก์จะนำรถยนต์ออกขายได้ราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสื่อมราคา700,599 บาท แก่โจทก์ โจทก์มีหน้าที่คืนชุดกระบะบรรทุกแก่จำเลยที่ 1 หากไม่สามารถคืนได้ต้องใช้ราคาแทนเป็นเงิน230,000 บาท พร้อมค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจนถึงวันฟ้องแย้ง ในอัตราไม่ต่ำกว่าเดือนละ 19,000 บาทรวมเป็นเงิน 147,566 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 377,566 บาทเมื่อนำไปหักกลบกับค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ 45,000 บาท ดังกล่าวแล้ว คงเหลือเงินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน332,566 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน32,566 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 2 งวดติดต่อกันและโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามความในสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ทั้งตามความในสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 (ก) ระบุว่า ให้สิ่งที่ติดตั้งต่อเติมเป็นส่วนควบของทรัพย์ที่เช่าซื้อด้วย ดังนั้นชุดกระบะบรรทุกพร้อมอุปกรณ์ที่จำเลยที่ 1 ต่อเติม จึงถือเป็นส่วนควบและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1จึงต้องส่งมอบคืนหรือชดใช้ราคา รวมทั้งค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน139,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 คำขออื่นตามฟ้องและฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 230,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 1 คันจากโจทก์ในราคา 1,398,400 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 29,134 บาทต่อเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 สิงหาคม 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20ของเดือนถัดไปจนครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมภายหลังทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1ได้ทำกระบะบรรทุกติดตั้งที่รถยนต์ที่เช่าซื้อและได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 8 งวด กับบางส่วนของงวดที่ 9 รวมค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 247,801 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดตลอดมาเกิน 2 งวดติดต่อกัน และยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2534 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อที่ค้างมาชำระแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หากไม่ชำระภายในกำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการแจ้งบอกเลิกสัญญาทันทีตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2534 ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.7สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2534 ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2534 โจทก์ติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้จากจำเลยที่ 1 แล้วนำออกประมูลขายได้เงิน 450,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ขาดให้โจทก์เต็มตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 นั้นก็คือราคารถยนต์ที่ยึดคืนมาขายได้น้อยกว่าราคาที่เช่าซื้อที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดนั้นเอง ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ถ้าเห็นว่าสูงเกินส่วน สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่โจทก์เรียกค่าขายรถยนต์ขาดราคาเป็นเงิน 700,599 บาท โจทก์คำนวณโดยนำเอาราคารถยนต์ที่ประมูลขายได้รวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้ว8 งวด และงวดที่ 9 บางส่วนไปหักออกจากค่าเช่าซื้อ แสดงว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากันราคาค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ เมื่อพิจารณาราคารถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อระบุไว้เป็นเงิน 1,398,400 บาท ซึ่งต้องบวกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีไปจนถึงงวดสุดท้าย เป็นเงินดอกเบี้ยถึง 478,400บาท ดังนี้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อจึงสูงกว่าราคาขายด้วยเงินสดมาก เมื่อคำนึงถึงราคารถยนต์ที่โจทก์นำออกประมูลขายได้เป็นเงิน 450,000 บาท บวกกับเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์แล้ว 247,801 บาท รวมเป็นเงิน 697,801 บาทที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขายรถยนต์ที่เช่าซื้อขาดราคาให้โจทก์อีก 230,000 บาท ตามสภาพของรถยนต์ที่เสื่อมราคาเพราะการใช้จึงเหมาะสมดีแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สองมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราเท่าใด โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะเป็นดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระให้โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 เห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาไม่ใช่ค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระ ดังที่สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ระบุไว้ให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อเดือน หากแต่เป็นหนี้เงินซึ่งโจทก์สามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ปัญหาสุดท้ายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะต้องใช้ราคากระบะบรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ข้อเท็จจริงรับกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำกระบะบรรทุกมาติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อ กระบะบรรทุกดังกล่าวจึงเป็นส่วนควบของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 (ก) โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์อันถือได้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์เป็นประธานย่อมเป็นเจ้าของกระบะบรรทุกที่ติดตั้งประกอบเข้ากับรถยนต์ที่เช่าซื้อแต่เพียงผู้เดียวแต่ต้องใช้ค่ากระบะบรรทุกนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1316 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share