คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานของจำเลยที่ทำงานเกิน5ปีหรือเกิน10ปีขึ้นไปเท่ากับ50วันหรือ300วันของค่าแรงอัตราสุดท้ายในขณะลาออกแต่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมิได้กำหนดนิยามคำว่า”ค่าจ้าง”และ”ค่าแรง”ไว้ดังนั้นค่าแรงก็คือค่าจ้างที่เอามาเฉลี่ยคิดให้เป็นวันหรือชั่วโมงและต้องนำเงินทั้งหมดที่ถือว่าเป็นค่าจ้างมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษส่วนเงินค่าตำแหน่งและค่าครองชีพเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของการทำงานเงินทั้ง2ประเภทถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยจึงต้องนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษด้วยส่วนเงินค่าที่พักเป็นเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเองลูกจ้างที่มีที่พักแล้วไม่มีสิทธิได้รับจึงเป็นเพียงเงินสวัสดิการหาใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติไม่จึงไม่ใช่ค่าจ้างไม่อาจนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษได้และตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยไม่มีข้อยกเว้นมิให้นับระยะเวลาการทดลองงานรวมเข้ากับระยะเวลาทำงานหลังจากได้รับการบรรจุหากไม่ต้องการให้นับระยะเวลาทดลองงานรวมเข้าด้วยจำเลยน่าจะระบุไว้ให้ชัดแจ้งเมื่อไม่ระบุจึงถือว่าระยะเวลาทดลองงานเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาทำงานที่ต้องนำมารวมคำนวณเงินตอบแทนพิเศษด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 5
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยขณะโจทก์ทั้งห้าลาออก โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3ทำงานเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนพิเศษจากจำเลยไม่น้อยกว่า 300 วันของค่าแรงอัตราสุดท้ายในขณะลาออกในส่วนโจทก์ที่ 1 คิดเป็นเงิน 76,395 บาท โจทก์ที่ 3 คิดเป็นเงิน70,599 บาท โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 ทำงานเป็นเวลาเกิน 5 ปีแล้ว มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนพิเศษจากจำเลยไม่น้อยกว่า50 วันของค่าแรงอัตราสุดท้ายในขณะลาออกในส่วนโจทก์ที่ 2คิดเป็นเงิน 11,133 บาท โจทก์ที่ 4 คิดเป็นเงิน 10,400 บาทและโจทก์ที่ 5 คิดเป็นเงิน 6,850 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่าตามระเบียบข้อบังคับจำเลยโจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตอบแทนพิเศษจากจำเลยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ยังไม่มีมติคณะกรรมการของจำเลยให้จ่ายเงินตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยกำหนดระยะเวลาทำงานของโจทก์ที่ 3 และจำนวนเงินตอบแทนพิเศษที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับ แล้วพิพากษาใหม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 72,099 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,583.50 บาทให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 65,601 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน9,616.50 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 4 และจำนวน 6,850 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 5
จำเลย ทั้ง ห้า สำนวน อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า “ค่าแรง” ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 24.7 ในเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยใช้มีความหมายถึง “ค่าจ้าง”นั้นไม่ถูกต้องเพราะ “ค่าแรง” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าจ้าง”ค่าแรง” จึงต้องหมายถึง ผลตอบแทนแรงงานตามที่รับจ้างโดยตรงเท่านั้น ส่วนโทษของการที่จะถูกตัดค่าจ้างหรือคิดค่าเสียหายตามข้อ 17 มีอยู่ 5 ประการ ตั้งแต่ ข้อ 17.1 ถึงข้อ 17.5 ลักษณะของการกระทำความผิดในข้อนี้ได้แก่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นงาน เครื่องมือเครื่องจักรต่อสินค้า การทำลายทรัพย์สิน ฯลฯการลงโทษในการกระทำความผิดดังกล่าวได้แก่การตัดค่าจ้างหรือคิดค่าเสียหาย ซึ่งเมื่อนำลักษณะของการกระทำความผิดในข้อ 15อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎระเบียบวินัยกับลักษณะของการกระทำความผิดในข้อ 17 มา เปรียบเทียบกันจะเห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะความผิดที่แตกต่างกัน การลงโทษจึงแตกต่างกัน ไม่จำต้องมีบทวิเคราะห์ของคำว่า “ค่าแรง” กับ “ค่าจ้าง” ไว้ในเอกสารหมาย ล.3ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษจึงต้องคิดจากค่าแรงเท่านั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 มิได้กำหนดคำนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” และ”ค่าแรง” ไว้ ในข้อบังคับดังกล่าวใช้ คำว่า ค่าจ้างและค่าแรงปะปนกันไม่แน่นอน เป็นต้นว่า ข้อ 4.3 การเข้าทำงานสายจะถูกตัดค่าแรงลงตามส่วน แต่ในข้อ 4.4 ในวันหยุดตามประเพณีพนักงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานตามปกติ และในข้อ 5เกี่ยวกับเรื่องการทำงานล่วงเวลาทำงานในวันหยุด และการจ่ายค่าแรงก็ระบุไว้ในข้อ 5.1 ว่า พนักงานทำงานเกินเวลาปกติจะได้รับค่าล่วงเวลาหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในการทำงานตามปกติสำหรับเวลาที่ทำงานเกิน จากข้อบังคับดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าค่าแรงก็คือค่าจ้างที่เอามาเฉลี่ยคิดให้เป็นวันหรือชั่วโมงนั่นเองดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าแรง ตามข้อ 24.7 หมายถึงค่าจ้างและจะต้องนำเงินต่าง ๆ ทั้งหมดที่ถือว่าเป็นค่าจ้างมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษ จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ข้อสองว่า ค่าตำแหน่ง เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้ลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อลูกจ้างสามารถทำงานจนเลื่อนขั้นถึงตำแหน่งที่กำหนดไว้ก็จะได้รับเงินค่าตำแหน่ง ซึ่งได้รับเงินไม่เท่ากันทุกตำแหน่งและทุกคน เงินดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเฉพาะผู้ที่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับเท่านั้น ส่วนค่าครองชีพ เป็นเงินช่วยเพื่อให้ความเป็นอยู่ของลูกจ้างดีขึ้น เป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีลักษณะเป็นเงินสวัสดิการ ไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนเพื่อตอบแทนการทำงานและไม่ได้คำนึงถึงผลงานของลูกจ้างเพราะลูกจ้างของจำเลยได้รับเงินดังกล่าวเท่ากันทุกคนสำหรับ ค่าที่พัก เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีที่พักเป็นของตนเองเท่านั้น ลูกจ้างที่มีที่พักเป็นของตนเองไม่มีสิทธิได้รับเงินนี้ เงินทั้ง 3 ประเภท ดังกล่าว จึงเป็นเงินที่จ่ายให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงไม่ใช่ค่าจ้างอันจะนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า เงินค่าตำแหน่งและค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์มีสิทธิได้รับเป็นการประจำและมีจำนวนแน่นอน จึงเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งจะต้องนำมาเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษด้วย ส่วนเงินค่าที่พักเป็นเงินที่จำเลยจ่ายช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่มีที่พักเป็นของตนเอง ลูกจ้างที่มีที่พักแล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินประเภทนี้ เงินค่าที่พักดังกล่าวจึงเป็นเพียงเงินสวัสดิการที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง หาใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานไม่ เงินค่าที่พักจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่อาจนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินตอบแทนพิเศษได้อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ในการคิดระยะเวลาทำงานเพื่อใช้คำนวณเงินตอบแทนพิเศษสำหรับโจทก์ที่ 3 จะนำระยะเวลาทดลองงานมารวมกับระยะเวลาทำงานหลังจากได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำแล้วมิได้นั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 24.7 ไม่มีข้อยกเว้นมิให้นับระยะเวลาการทดลองงานรวมเข้ากับระยะเวลาทำงานหลังจากได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำเพื่อเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินตอบแทนพิเศษหากจำเลยไม่ต้องการให้นับระยะเวลาทดลองงานดังกล่าวรวมเข้าด้วยจำเลยก็น่าจะระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวให้ชัดแจ้งซึ่งจำเลยสามารถจะทำได้ อีกประการหนึ่งเมื่อจำเลยออกใบผ่านงานให้โจทก์ที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยก็ระบุว่าโจทก์ที่ 3 ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2526 อันเป็นวันแรกที่โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานทดลองงานกับจำเลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องถือว่าระยะเวลาทดลองงานเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลาทำงานที่ต้องนำมารวมคำนวณเงินตอบแทนพิเศษสำหรับโจทก์ที่ 3 ด้วยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 70,098 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,250 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 63,600 บาทแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 9,283 บาท แก่โจทก์ที่ 4 และจำนวน 6,516.50 บาทแก่โจทก์ที่ 5

Share