แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรถือได้ว่าเป็นเงินภาษีที่เกิดขึ้นพร้อมกับหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อกรมสรรพากรเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้เบี้ยปรับด้วยแม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินจะได้แจ้งการประเมินไปยังลูกหนี้ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แต่เมื่อลูกหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเบี้ยปรับได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เบี้ยปรับด้วย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าประจำปี 2530 รวมเป็นเงิน 11,614,732 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วฟังว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2530 ที่ลูกหนี้จะต้องชำระเป็นเงินรวม4,286,383.47 บาท ส่วนเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีอากรตามแบบ ภ.ง.ด. 12 ข้อ 10 เจ้าหนี้ได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้ลูกหนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันเวลาภายหลังจากลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่พิจารณาให้ ส่วนภาษีการค้าประจำปี 2530 เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้เป็นเงิน1,508,040.03 บาท เห็นสมควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 5,794,423.54 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของเจ้าหนี้เฉพาะส่วนเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด พิเคราะห์แล้วเบี้ยปรับของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เจ้าหนี้ฎีกาขอให้ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจำนวน5,629,885.88 บาท สืบเนื่องมาจากลูกหนี้มีรายได้จากการขายบ้านและที่ดินในปี 2530 จำนวน 10,619,060 บาท แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2530 เบี้ยปรับดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเงินภาษีที่เกิดขึ้นพร้อมกับหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งลูกหนี้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2530 ทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 56,57 จัตวา เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้เบี้ยปรับด้วย แม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินจะได้แจ้งการประเมินไปยังลูกหนี้ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ แต่เมื่อมูลหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเบี้ยปรับได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระเบี้ยปรับจำนวน 5,629,885.88 บาท ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงินเบี้ยปรับเกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามนัดซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้วนั้นเห็นว่าการที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 23 ในกรณีเช่นนี้มีผลเพียงทำให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้องและแจ้งจำนวนภาษีอากรไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากรเท่านั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 25, 49 หาทำให้เงินเบี้ยปรับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียกแต่อย่างใดไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เบี้ยปรับของเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 5,629,885.88 บาทอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์