คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4287/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์จำเลยข้อ2.1ก.กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ14350ต่อปีแต่สัญญาข้อ2.4มีข้อความระบุว่า”ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระต้นเงินและ/หรือกำหนดเวลาที่ระบุตามข้อ3ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนสามารถเรียกเก็บได้จากลูกค้าเงินกู้แทนอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ2.1,2.2และ2.3ข้างต้น”โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันไว้ได้แต่ปรากฎว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา379ถ้าเบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 5,547,208.04 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้โจทก์สามารถเก็บจากผู้กู้ยืมได้ ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 4,482,483.58 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 21564 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินขาดอยู่จำนวนเท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,485,347.58 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 21564 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้เงินขาดอยู่จำนวนเท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 2.4 มีข้อความระบุว่า “ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระต้นเงิน และ/หรือดอกเบี้ยตามจำนวน และ/หรือกำหนดเวลาที่ระบุตามข้อ 3 ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนสามารถเรียกเก็บได้จากลูกค้าเงินกู้(ซึ่งปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 21.0 ต่อปี แต่ต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามประกาศ) แทนอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3ข้างต้น” โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันไว้ได้แต่ปรากฎว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถ้าเบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 และตามสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างชำระในกรณีปกติไว้ในข้อ 2.1 ก.ในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ต่อต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้บวกด้วยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปีดังนั้นการที่โจทก์เรียกเอาเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีสำหรับเงินกู้ที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเบี้ยปรับลดลงเหลืออัตราร้อยละ15.75 ต่อปี นั้น นับว่าเป็นจำนวนพอสมควรเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน

Share