แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา4คำว่า”ผลิต”หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วยดังนั้นการที่จำเลยนำเฮโรอีนมาแบ่งบรรจุหลอดพลาสติกจึงเป็นการผลิตเฮโรอีนตามความหมายของมาตรา4แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนให้จำเลยทราบตั้งแต่ชั้นจับกุมซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งขบวนการสอบสวนจำเลยแล้วแม้พนักงานสอบสวนมิได้เบิกความถึงการแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนก็ตามแต่จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพเช่นเดียวกันกับในชั้นจับกุมเฮโรอีนที่จับได้ก็เป็นจำนวนเดียวกันจึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานนี้แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องศาลลงโทษจำเลยฐานผลิตเฮโรอีนตามมาตรา65ได้ วันแรกที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลยนั้นศาลได้สอบถามเรื่องทนายความแล้วจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและแถลงว่าไม่ต้องการทนายความในสำนวนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยซักค้านพยานโจทก์หรือดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่ต้องอาศัยทนายความและยังแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยเพิ่งมาโต้แย้งในชั้นฎีกาว่าศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลยดังนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ขัดต่อมาตรา173 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยได้บังอาจผลิตโดยแบ่งเฮโรอีนบรรจุหลอดเครื่องดื่มและมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตคำว่า”เพื่อจำหน่าย”นั้นโจทก์มุ่งถึงข้อหามีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองมิใช่ข้อหาผลิตเฮโรอีนดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายมาแล้วในฟ้อง เฮโรอีนที่จำเลยผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นเฮโรอีนจำนวนเดียวกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ผลิตโดยแบ่งเฮโรอีนบรรจุหลอดดูดเครื่องดื่มและมีเฮโรอีนบรรจุหลอดดูดเครื่องดื่มจำนวน 2 หลอดน้ำหนัก 0.09 กรัม บรรจุหลอดพลาสติก (ขวดพลาสติก) จำนวน 1 ขวดน้ำหนัก 0.29 กรัม ห่อด้วยกระดาษ 1 ห่อ น้ำหนัก 0.04 กรัมรวมน้ำหนักทั้งสิ้น 0.42 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และจำเลยได้จำหน่ายเฮโรอีนที่ครอบครองดังกล่าวจำนวน 2 หลอด น้ำหนัก 0.09 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นเงิน200 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 49, 91 ริบหลอดดูดเครื่องดื่ม1 หลอด กรรไกร 1 เล่ม ไฟแช็ก 1 อันของกลาง และสั่งห้ามจำเลยเสพยาเสพติดให้โทษต่อไปด้วย
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบหลอดดูดเครื่องดื่ม1 หลอด กรรไกร 1 เล่ม ไฟแช็ก 1 อัน ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งห้ามจำเลยเสพยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 49 นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 98ได้บัญญัติวิธีการบำบัดรักษาไว้แล้ว ไม่สมควรที่จะสั่งห้ามจึงให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53คงจำคุก 25 ปี รวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 30 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฐานผลิตเฮโรอีนได้หรือไม่ เห็นว่าในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ได้บัญญัติคำนิยามคำว่า “ผลิต”ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยนำเฮโรอีนมาแบ่งบรรจุหลอดพลาสติกจึงเป็นการผลิตเฮโรอีนตามความหมายของคำว่า “ผลิต” แล้ว ส่วนปัญหาว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้หรือไม่นั้น ปรากฏจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทธวัชชัย อยู่มาก เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลยได้พร้อมของกลาง พยานโจทก์ว่าได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่าย และผลิตจำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหา ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4เห็นได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนให้จำเลยทราบแล้วตั้งแต่ชั้นจับกุม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งขบวนการสอบสวนจำเลย และจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพทั้งเฮโรอีนที่จับได้เป็นของกลางก็เป็นจำนวนเดียวกันกับที่แจ้งข้อหาแก่จำเลยในชั้นสอบสวนว่ามีไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ร้อยตำรวจเอกคนอง ไข่ทาเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการสอบสวนจำเลยจะมิได้เบิกความถึงการแจ้งข้อหาผลิตเฮโรอีนก็ตาม แต่จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพเช่นเดียวกันกับในชั้นจับกุม จึงถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานนี้แล้ว และโจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 65 ได้ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีนี้มีโทษตามกฎหมายถึงประหารชีวิต ศาลจึงต้องตั้งทนายความให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 นั้น เห็นว่า ศาลได้สอบถามเรื่องทนายความแล้วแต่จำเลยแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ และขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังปรากฏในคำให้การจำเลย และรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 1 กันยายน 2537 อันเป็นวันแรกที่ศาลชั้นต้นได้อ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลยทั้งในสำนวนไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์หรือดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดต้องอาศัยทนายความและจำเลยยังได้แถลงต่อศาลด้วยว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยจนกระทั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาคดีนี้จำเลยเพิ่งจะหยิบยกขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกา จึงเห็นว่าข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น และศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ขัดต่อมาตรา 173 ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องได้บรรยายข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายไว้โดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในฟ้องข้อ 1 ก.โจทก์บรรยายข้อหานี้แต่เพียงว่าจำเลยได้บังอาจผลิตโดยแบ่งเฮโรอีนบรรจุหลอดเครื่องดื่มและมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต เห็นว่า คำว่าเพื่อจำหน่ายนั้นโจทก์ได้บรรยายมุ่งถึงข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง มิใช่ข้อหาผลิตเฮโรอีนทั้งในฟ้องข้อ 2 ก็ได้บรรยายย้ำว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดส่วนหนึ่งของเฮโรอีนที่จำเลยผลิต และมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเหลือจากการจำหน่ายด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยโดยได้บรรยายข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายมาแล้วในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ลงโทษจำเลยข้อหานี้ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการนำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าเฮโรอีนที่จำเลยผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นเฮโรอีนจำนวนเดียวกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย ซึ่งในกรณีนี้ระหว่างมาตรา 65 วรรคหนึ่งกับมาตรา 66 วรรคหนึ่ง นั้น มาตรา 65 วรรคหนึ่งมีโทษหนักกว่า”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานผลิตเฮโรอีน และฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและมาตรา 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี รวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดสำหรับความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน 2 ปี 6 เดือนแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 27 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2