แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนไม่ชอบเนื่องจากพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อจำเลยโจทก์มีพนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพยานได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแล้วส่วนจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆในอุทธรณ์และฎีกาเท่านั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจำเลยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยกระทำผิดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเป็นการแตกต่างในข้อที่มิใช่สาระสำคัญและที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นจำเลยต่อสู้ว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาอย่างดีไม่หลงต่อสู้ศาลพิพากษาลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสองและวรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2535 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยมีอาวุธปืนชนิดออโตเมติก ขนาด 9 ม.ม. จำนวน 1 กระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประทับไว้ ซองกระสุน จำนวน 1 อัน และกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 7 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งไม่ใช่กรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายสมปอง ทองจำรูญ จำนวนหลายนัดโดยมีเจตนาฆ่า ลูกกระสุนปืนถูกนายสมปองเป็นเหตุให้นายสมปองถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ยึดได้ลูกกระสุนปืนออโตเมติกขนาด 9 ม.ม. 1 ลูก ปลอกกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 7 ปลอกเศษตะกั่ว ลูกกระสุนปืน จำนวน 2 ชิ้น ที่จำเลยได้กระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาเด็กหญิงสนธญา ทองจำรูญ บุตรของผู้ตายโดยนางคำแก้ว ทองจำรูญ ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91, 291 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 2,000 บาททางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ปรับ 1,500 บาทริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำให้คนตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน ปรับ 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของตนเองโดยไม่รับอนุญาต ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับ 1,500 บาท เป็นอันยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนไม่ชอบหรือไม่โดยจำเลยอ้างว่าพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นต่อจำเลย โจทก์มีพันตำรวจโทเดชาพล ลาภกิจ พนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นตามคำสั่งของพนักงานอัยการแล้ว ส่วนจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ ในอุทธรณ์และฎีกาว่ามิได้แจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมข้อเท็จจริงจึงเชื่อฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว การสอบสวนย่อมชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกว่า ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงชั้นสอบสวนปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแต่โจทก์ฟ้องข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นการแกล้งเอาความเท็จมาฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริงและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้จำเลยได้รับความเสียหาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามทั้งเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญและจำเลยหลงต่อสู้ เห็นว่าข้อเท็จจริงชั้นสอบสวนคดีนี้จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสุนัขแล้วกระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย อาจเป็นการกระทำผิดข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาในลักษณะเล็งเห็นผล หรือเป็นการกระทำผิดข้อหาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายก็ได้ ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการโจทก์มีความเห็นสั่งฟ้องหรือฟ้องในข้อหาความผิดฐานใดฐานหนึ่งย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่มีหลักฐานพยานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์กลั่นแกล้งหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อจำเลยแต่อย่างใดเพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างกับฟ้องที่บรรยายว่า จำเลยกระทำผิดข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาย่อมเป็นการแตกต่างในข้อที่มิใช่สาระสำคัญและการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นแล้วจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องเป็นอย่างดีหาได้หลงต่อสู้แต่อย่างใดไม่ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่าสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าลักษณะความผิดเป็นการกระทำโดยประมาทอันมิใช่ความผิดที่ชั่วร้ายจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยชดใช้เงิน 80,000 บาท แก่ทายาทผู้ตายจนทายาทหรือโจทก์ร่วมไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และจำเลยประกอบอาชีพสุจริตกับมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรอีก 5 คน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบา และเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยและคุมความประพฤติจำเลยด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ลงโทษจำคุก3 ปี ปรับ 12,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุก 2 ปี ปรับ 8,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยมีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่งและวรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์