คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระพุทธรูปของกลางทั้ง7องค์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กเก็บรักษาอยู่ในตู้ของวัดแต่ไม่ปรากฏว่าเอาไว้ทำอะไรพระพุทธรูปของกลางจึงเป็นพระพุทธรูปธรรมดาเช่นพระพุทธรูปบูชาทั่วไปถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา335ทวิวรรคหนึ่งเมื่อพระราชบัญญัติของกลางมิใช่ทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนแม้จำเลยที่4กับพวกจะลักพระพุทธรูปของกลางในวัดการกระทำของจำเลยที่4กับพวกก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา335วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 335 ทวิ วรรคสอง, 83, 45 และห้ามมิให้จำเลยที่ 2เข้าไปในวัดหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาพุทธเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลย ทั้ง สี่ ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7), 335 ทวิ วรรคสอง, 83 ให้จำคุกคนละ 8 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 คำขออื่นให้ยก
โจทก์ และ จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7),335 ทวิ วรรคสอง, 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8 ปีจำเลยที่ 4 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นสามเณร จำเลยที่ 1ที่ 2 และนายสุรพลซึ่งเป็นพระภิกษุได้เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปที่วัดรามัญที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลได้ร่วมกันลักพระพุทธรูปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปางสะดุ้งมาร 3 องค์พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 2 องค์ พระพุทธรูปปางสมาธิ 2 องค์และปั้นน้ำชาพร้อมฝา 1 ชุด ทรัพย์ของกลางรวมราคา 19,000 บาทของวัดรามัญไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลลักทรัพย์ของกลางด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 4ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลลักทรัพย์ของกลางโดยแบ่งหน้าที่กันทำดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำผิดตามฟ้อง แต่พระพุทธรูปของกลางทั้ง 7 องค์นั้นตามภาพถ่ายหมาย จ.2 เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก และได้ความตามคำเบิกความของนายสมเดชพยานโจทก์ว่า พระพุทธรูปดังกล่าวอยู่ในตู้ของวัดแต่ไม่ทราบว่าเอาไว้ทำอะไร พระพุทธรูปของกลางจึงเป็นพระพุทธรูปธรรมดา เช่น พระพุทธรูปบูชาทั่วไปถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อพระพุทธรูปของกลางมิใช่ทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน แม้จำเลยที่ 4 กับพวกจะลักพระพุทธรูปของกลางในวัด การกระทำของจำเลยที่ 4 กับพวกก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1562/2536 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสี่แม้จะมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 บางส่วนไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนายสุรพลจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1562/2536 ของศาลชั้นต้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคหนึ่ง, 83ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุรพลคนละ 4 ปี จำเลยที่ 4ขณะกระทำผิดอายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ให้จำคุก 2 ปี นายสุรพลให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1562/2536ของศาลชั้นต้น

Share