คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10242/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งหมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงที่เป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มิใช่ประเด็นปลีกย่อย
คดีแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาเพียงว่า จำเลยได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริง ส่วนปัญหาว่าจำเลยบุกรุกเป็นเนื้อที่เท่าใด เป็นข้อปลีกย่อยที่จะต้องนำสืบรายละเอียดกันในชั้นพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 250,096.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 204,569 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551) ต้องไม่เกิน 45,527.53 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 77,194 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2548 วันและเดือนใดไม่ปรากฏชัดถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ด้วยการแผ้วถางป่าและก่นสร้างทำประโยชน์ปลูกมันสำปะหลังในที่ดินบริเวณป่าเขาปลาดุกโคน ท้องที่ตำบลสระตะเคียน อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและเขตป่าสงวนแห่งชาติครบุรี ที่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 นายยุทธนากับพวกพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมจับกุมจำเลยได้ ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2549 พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาฐานก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือและครอบครองที่ดิน ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 3,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำฟ้องและคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 203/2549 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา การที่จำเลยบุกรุกที่ดินพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินไร่ละ 38,597 บาท
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ด้วยการแผ้วถางป่าและก่นสร้างทำประโยชน์ปลูกมันสำปะหลังในที่ดินบริเวณป่าเขาปลาดุกโคน ท้องที่ตำบลสระตะเคียน อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นป่าต้นน้ำลำธารอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและเขตป่าสงวนแห่งชาติครบุรี ที่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเป็นคดีอาญาและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 203/2549 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา คำฟ้องในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งหมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงที่เป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มิใช่ประเด็นปลีกย่อย สำหรับคดีแพ่งคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเพียงว่า จำเลยได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริง ส่วนปัญหาว่าจำเลยบุกรุกเป็นเนื้อที่เท่าใด เป็นข้อปลีกย่อยที่ต้องนำสืบรายละเอียดกันอีกในชั้นพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงโดยถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ โดยไม่รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในคดีนี้เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นผิดต่อกฎหมาย เมื่อคดีนี้คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาจึงชอบที่จะฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การตรวจสอบพื้นที่พิพาทของโจทก์มีการคำนวณตามหลักวิชาการโดยอ้างอิงพิกัดแผนที่ซึ่งสามารถตรวจสอบได้แน่นอน จำเลยก็มิได้ให้การและนำสืบโต้แย้งให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา เมื่อได้ความว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินไร่ละ 38,597 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 204,569 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551) ต้องไม่เกิน 45,527.53 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share