คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3355/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จำเลยแถลงว่า ต่างไม่สืบพยานบุคคล ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีต่อไปโดยอาศัยเอกสารที่ส่งไว้ต่อศาลแต่เมื่อโจทก์แถลงต่อไปว่าจะขอให้ศาลหมายเรียกเอกสารอื่นมาประกอบการพิจารณาของศาลอีกและจำเลยก็แถลงว่ายังติดใจส่งเอกสารจำนวนหนึ่งต่อศาลอีกเช่นเดียวกัน ดังนี้แสดงว่าคู่ความประสงค์ให้ศาลนำเอกสารที่คู่ความขอให้เรียกมาหรือส่งไว้ในสำนวนมาประกอบการพิจารณาด้วย หาใช่เพียงแต่พิจารณาจากเอกสารที่ส่งไว้แต่เดิมไม่
ภายหลังจากที่โรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ.2521 แล้ว ประธานกรรมการอำนวยการจำเลยที่ 1 ได้ออกคำชี้แจงแก่พนักงานและคนงานว่าระเบียบดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521เป็นต้นไปพนักงานและคนงานประจำที่ได้บรรจุเข้าทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521. ต้องมีสิทธิในเรื่องเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิมต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ออกระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ ฉบับที่ 2พ.ศ.2521 ให้พนักงานและคนงานประจำที่ได้บรรจุเข้าทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่1 กุมภาพันธ์ 2521 คงมีสิทธิในเรื่องเงินชดเชยและเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิมอีก ดังนี้ย่อมฟังได้ว่าก่อนที่จะมีระเบียบโรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ.2521 นั้น ได้มีระเบียบเดิมให้พนักงานและคนงานประจำได้รับเงินบำเหน็จอยู่แล้ว โจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2517 การรับเงินบำเหน็จของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามระเบียบเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลย มีจำนวนเท่ากับเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิมที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับจึงไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกร้องเงินตามระเบียบเดิมอีก ไม่ต้องวินิจฉัยว่าระเบียบเดิมนั้นคือระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ.2519หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2521 จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการอำนวยการของจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์ทำงานมา 3 ปี 3 เดือน มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามพระราชบัญญัติจ่ายเงินบำเหน็จของพนักงานและลูกจ้างของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ซึ่งจำเลยที่ 1 ใช้ระเบียบนี้อยู่เมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 28,230 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเป็นเงิน 56,460 บาท จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 56,460 บาทให้โจทก์แล้ว แต่ไม่ยอมจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 28,230 บาทให้อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวตามระเบียบโรงงานกระสอบป่านว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 โจทก์เห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อกฎหมายแรงงานและพระราชบัญญัติจ่ายเงินบำเหน็จของพนักงานและลูกจ้างของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2519 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 28,230 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,230 บาท เวลา 1 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30,347 บาท กับให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,230 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ แต่ภายหลังชี้สองสถานแล้ว โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจบริหารงานภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังโจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 2 คำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยจำเลยที่ 1 ได้วางระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จไว้ตามระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2521 ซึ่งข้อ 14 กำหนดว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานและในกรณีเงินบำเหน็จที่จ่ายตามข้อบังคับนี้มีจำนวนน้อยกว่าเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ให้โรงงานจ่ายเพิ่มให้ครบเท่ากับเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เมื่อโจทก์ออกจากงาน จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ 28,230 บาทแล้ว โดยถือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วยและยังจ่ายเพิ่มให้อีก 28,230 บาท เพื่อให้เท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โจทก์จึงได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยไปรวม 56,460 บาท เป็นการถูกต้องแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามพระราชบัญญัติจ่ายเงินบำเหน็จของพนักงานและลูกจ้างของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 เพราะระเบียบดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะพนักงานและลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรมในรัฐบาลและได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเงินที่ได้รับก็มิใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน ระเบียบโรงงานกระสอบป่านว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 ไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่โจทก์อ้าง ขอให้ยกฟ้อง

ชั้นพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงไม่สืบพยานบุคคลขอให้ศาลวินิจฉัยคดีไปโดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างพ.ศ. 2519 กับระเบียบโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ พ.ศ. 2521 ฉบับที่ 1และฉบับที่ 2 กับบทกฎหมายที่มีอยู่ โจทก์แถลงต่อไปว่ามีตัวอย่างทางปฏิบัติที่จำเลยจ่ายเงินไป โจทก์จะขอให้ศาลเรียกมาประกอบการพิจารณาก่อนศาลพิพากษา และจำเลยที่ 2 แถลงว่า จำเลยที่ 2 ยังติดใจส่งเอกสารจำนวนหนึ่งอีกด้วยก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโจทก์ได้ขอให้ศาลหมายเรียกเอกสารมาและจำเลยที่ 2 ก็ส่งเอกสารต่อศาลอีกหลายฉบับ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินบำเหน็จจำนวน 28,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์กับจำเลยที่ 2 แถลงไม่สืบพยานบุคคลขอให้ศาลวินิจฉัยคดีต่อไปโดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 กับระเบียบโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ พ.ศ. 2521 ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ก็ตาม แต่โจทก์ก็แถลงต่อไปอีกว่าจะขอให้ศาลหมายเรียกเอกสารอื่นมาประกอบการพิจารณาของศาลอีกและจำเลยที่ 2 ก็แถลงว่ายังติดใจส่งเอกสารจำนวนหนึ่งต่อศาลเช่นเดียวกัน ดังนี้ แสดงว่าคู่ความประสงค์ให้ศาลนำเอกสารที่คู่ความขอให้เรียกมาหรือส่งไว้ในสำนวนมาประกอบพิจารณาด้วย หาใช่เพียงแต่พิจารณาจากระเบียบทั้งสามฉบับเท่านั้นไม่

ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินบำเหน็จได้ความตามเอกสารที่โรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม และจำเลยที่ 2 สั่งไว้ว่า เมื่อโรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์2521 แล้ว ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2521 ประธานกรรมการอำนวยการโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกคำชี้แจงแก่พนักงานและคนงานความว่า ระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1พ.ศ. 2521 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 เป็นต้นไป พนักงานและคนงานประจำที่ได้บรรจุเข้าทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521ยังคงมีสิทธิในเรื่องเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิม ครั้นวันที่ 15 เมษายน 2521 โรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2521 ให้พนักงานและคนงานประจำที่ได้บรรจุเข้าทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 คงมีสิทธิในเรื่องเงินชดเชยและเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิม ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าก่อนที่จะมีระเบียบโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521นั้น ได้มีระเบียบเดิมให้พนักงานและคนงานประจำได้รับเงินบำเหน็จอยู่แล้วและระเบียบที่ออกใหม่ดังกล่าวหาใช้บังคับถึงสิทธิรับเงินชดเชยเงินบำเหน็จของพนักงานและคนงานประจำที่ได้บรรจุเข้าทำงานอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 ไม่ โจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2517 การรับเงินบำเหน็จของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามระเบียบเดิม ปรากฏตามเอกสารที่จำเลยที่ 2 ส่งศาลต่อไปว่า ในการที่โรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมจ่ายเงิน 56,460 บาทให้แก่โจทก์นั้นเจ้าหน้าที่โรงงานกระสอบป่านได้ทำบันทึกเสนอลงวันที่ 23 มีนาคม 2521ความว่าได้คำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์แล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 3 ปี เป็นเงิน 28,230 บาท ตามระเบียบโรงงานกระสอบป่าน ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จฯ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 ข้อ 14 การจ่ายเงินบำเหน็จนี้ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย และข้อ 14 วรรคสองกำหนดว่า ในกรณีเงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าเงินชดเชยให้โรงงานจ่ายเพิ่มให้ครบเท่ากับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเงินที่ต้องจ่ายจึงควรเป็น 28,230 บาท บวกด้วย 28,230 บาท รวมเป็นเงิน 56,460 บาทและปรากฏตามเอกสารฉบับนี้ว่า มีคำสั่งลงวันที่ 28 เดือนเดียวกันให้ดำเนินการได้ ต่อมาได้มีบันทึกการจ่ายเงินให้โจทก์สองฉบับ ฉบับแรกระบุว่าเงินบำเหน็จจำนวน 28,230 บาท ฉบับที่สองระบุว่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 28,230 บาท และมีผู้ลงชื่อรับเงินในบันทึกการสั่งจ่ายเงินทั้งสองฉบับไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 ฟังได้ว่าโรงงานกระสอบป่านกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 28,230 บาท ให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงจะนำข้อ 14 วรรคแรกแห่งระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521 ที่กำหนดให้การจ่ายเงินบำเหน็จถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยมาใช้บังคับมิได้ ศาลฎีกาเห็นว่าโรงงานกระสอบป่าน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จ่ายเงิน 28,230 บาท จำนวนแรกแก่โจทก์และโจทก์รับไปเป็นเงินบำเหน็จแม้เป็นการจ่ายตามระเบียบว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพนักงานและคนงานประจำฉบับที่ 1 พ.ศ. 2521แต่เมื่อได้ความตามฟ้องโจทก์ว่ามีจำนวนเท่ากับเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิมที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ จึงไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกร้องเงินบำเหน็จตามระเบียบเดิมอีก ไม่ต้องวินิจฉัยว่าระเบียบเดิมนั้นคือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องมุ่งขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จก็ไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินประเภทอื่นหรือไม่และไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 หรือไม่

พิพากษายืน

Share