คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการพ.ศ.2527มาตรา7ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการคือข้าราชการที่ทางราชการได้มีคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่แต่กรณีคดีนี้ทางราชการได้ย้ายที่ทำการใหม่อันเป็นการก่อให้เกิดสภาพการณ์เช่นเดียวกันกับการมีคำสั่งให้เดินทางกล่าวคือข้าราชการจำต้องเดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ซึ่งเป็นผลเช่นเดียวกันกับการมีคำสั่งของทางราชการนั้นเองดังนั้นในกรณีเช่นนี้ทำให้ถ้อยคำตามตัวอักษรที่ว่า”ได้รับคำสั่งให้เดินทาง”ไม่ชัดแจ้งว่าจะมีความหมายครอบคลุมถึงกรณีที่มีสภาพการณ์เช่นเดียวกับการได้รับคำสั่งให้เดินหรือไม่ชอบที่ศาลจะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัตินี้ว่ามีขอบเขตแห่งความมุ่งหมายแค่ไหนเพียงใดเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาแล้วจะพบว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาแล้วจะพบว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทางราชการมีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือนร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุจึงเห็นได้ว่าการย้ายที่ทำการใหม่ของโจทก์ซึ่งทำให้ข้าราชการของโจทก์ต้องเดินทางไปทำงานประจำสำนักงานใหม่นี้ก็เนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุเช่นเดียวกับการได้รับคำสั่งให้เดินทางและทำให้ข้าราชการได้รับความเดือนร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยดังนั้นถ้อยคำตามตัวอักษรที่ว่า”ได้รับคำสั่งให้เดินทาง”ย่อมมีขอบเขตแห่งความมุ่งหมายครอบคลุมถึงกรณีย้ายที่ทำการใหม่ไปต่างท้องที่ด้วยดังนั้นกรณีเช่นคดีนี้ย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยของโจทก์ เดิมรับราชการที่กรมทางหลวงและโอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2527 เดิมที่ทำการของโจทก์ตั้งอยู่ที่อาคารทบวงมหาวิทยาลัย เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร ต่อมาเดือนธันวาคม 2527 ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 จำเลยได้ขอเบิกค่าเช่าบ้าน เลขที่ 10/21 ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี จากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 29,085 บาท และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งการได้รับเงินดังกล่าวไปนั้น จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับ เนื่องจากจำเลยเริ่มรับราชการครั้งแรกที่หน่วยงานอื่นในเขตอำเภอชั้นนอกหรือในเขตอำเภอชั้นในของกรุงเทพมหานคร การที่โจทก์ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ไม่ถือเป็นการย้ายสถานที่ปฎิบัติงานของข้าราชการ แต่เป็นการย้ายที่ตั้งของสำนักงานใหม่ ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531 โจทก์แจ้งให้จำเลยส่งคืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 แต่จำเลยไม่คืนขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่เบิกไปโดยไม่มีสิทธิจำนวน 29,085 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระถึงวันฟ้องจำนวน 12,403 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 41,488 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน29,085 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ต้องคืนเงินค่าเช่าบ้านที่รับไปให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการพ.ศ. 2527 และแม้จะฟังว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านแต่เงินดังกล่าวเป็นลาภมิควรได้ โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยรับไปโดยไม่มีสิทธิ และโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณา จำเลยแถลงสละข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ และโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้รับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยรับราชการครั้งแรกที่หน่วยงานอื่นในเขตอำเภอชั้นนอกหรือในเขตอำเภอชั้นในของกรุงเทพมหานครและโอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเดิมที่ทำการของโจทก์ตั้งอยู่ที่อาคารทบวงมหาวิทยาลัย เขตพญาไท กรุงเทพมหานครแล้วต่อมาเดือนธันวาคม 2527 โจทก์ได้ย้ายที่ทำการใหม่ไปตั้งอยู่ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทำให้จำเลยต้องเดินทางไปทำงานประจำสำนักงานใหม่ต่างท้องที่ซึ่งมิใช่ท้องที่ที่จำเลยเริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่จำเลยโอนมารับราชการ มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ในกรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการหรือไม่ พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน ข้าราชการพ.ศ. 2527 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 16 และมาตรา 17 ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน เว้นแต่ผู้นั้น (1)ทางราชการได้จัดที่พักอาศัยให้อยู่แล้ว (2) มีเคหสถานของตนเองหรือของสามีภริยาที่พออาศัยอยู่ร่วมกันได้ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ (3) ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานใหม่ในท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกหรือท้องที่ที่กลับเข้ารับราชการใหม่ (4) เป็นข้าราชการวิสามัญ” พิเคราะห์บทบัญญัติดังกล่าวแล้วเห็นว่าข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการคือข้าราชการที่ทางราชการได้มีคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่แต่กรณีคดีนี้ ทางราชการได้ย้ายที่ทำการใหม่อันเป็นการก่อให้เกิดสภาพการณ์ เช่นเดียวกันกับการมีคำสั่งให้เดินทาง กล่าวคือ ข้าราชการจำต้องเดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ ซึ่งเป็นผลเช่นเดียวกันกับการมีคำสั่งของทางราชการนั่นเอง ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ทำให้ถ้อยคำตามตัวอักษรที่ว่า “ได้รับคำสั่งให้เดินทาง”ไม่ชัดแจ้งว่าจะมีความหมายครอบคลุมถึงกรณีที่มีสภาพการณ์เช่นเดียวกับการได้รับคำสั่งให้เดินทางหรือไม่ ชอบที่ศาลจะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัตินี้ว่ามีขอบเขตแห่งความมุ่งหมายแค่ไหนเพียงใด เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาแล้ว จะพบว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทางราชการมีเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุ จึงเห็นได้ว่าการย้ายที่ทำการใหม่ของโจทก์ซึ่งทำให้ข้าราชการของโจทก์ต้องเดินทางไปทำงานประจำสำนักงานใหม่นี้ก็เนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุเช่นเดียวกับการได้รับคำสั่งให้เดินทางและทำให้ข้าราชการได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ดังนั้น ถ้อยคำตามตัวอักษรที่ว่า “ได้รับคำสั่งให้เดินทาง” ย่อมมีขอบเขตแห่งความมุ่งหมายครอบคลุมถึงกรณีย้ายที่ทำการใหม่ไปต่างท้องที่ด้วยซึ่งเป็นการชอบด้วยหลักแห่งการตีความกฎหมาย และประกอบด้วยความถูกต้องเป็นธรรมหาเป็นการตีความเกินเลยหรือขัดต่อบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ส่วนการตีความเคร่งครัดตรงถ้อยคำตามอักษรโดยไม่คำนึ่งถึงความมุ่งหมายของกฎหมายดังฎีกาของโจทก์นั้นนอกจากจะไม่ชอบด้วยหลักแห่งการตีความกฎหมายและเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว ยังไม่ชอบด้วยหลักแห่งการบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย เพราะทางราชการได้กำหนดให้หลักประกันโดยให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องค่าเช่าบ้านข้าราชการแก่ข้าราชการในกรณีที่ต้องเดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ ทำให้เดือนร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากทางราชการเป็นเหตุแต่กลับมาอ้างว่า ไม่ได้มีคำสั่งเพื่อให้พ้นจากความรับผิดชอบอันเป็นการตีความที่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเดือนร้อนของข้าราชการที่ทางราชการเป็นผู้ก่อขึ้น ย่อมไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทั้งจะทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนมั่นคงเที่ยงตรงในหลักการใช้กฎหมายซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อระบบราชการอีกด้วย เพราะฉะนั้นกรณีเช่นคดีนี้ ย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้จำเลยมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ หรืออีกนัยหนึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าบ้านข้าราชการคืนจากจำเลย
พิพากษายืน

Share