แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก(ฉบับที่2)พ.ศ.2529ข้อ13.4ที่ระบุว่าการลงทะเบียนซ้ำหมวดวิชาที่สอบได้ไว้แล้วจะกระทำมิได้หากพบมีการสอบซ้ำจะตัดสินการสอบที่ได้คะแนนต่ำสุดไว้เป็นผลการศึกษาของนักศึกษามิได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพ.ศ.2530ข้อ4เพราะระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดในเรื่องลงทะเบียนซ้ำในกรณีที่สอบในวิชานั้นได้แล้วกลับมาลงซ้ำในวิชานั้นๆอีกไว้คงกำหนดแต่ในเรื่องลงทะเบียนซ้ำกรณีสอบได้ระดับ”0″คือสอบตกแล้วจึงมาลงทะเบียนซ้ำเพื่อสอบใหม่ไว้เท่านั้นระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ขัดแย้งกันและใช้ประกอบกันได้โจทก์เป็นนักศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายการที่โจทก์สอบผ่านวิชาบังคับหมวดภาษาไทยได้แล้วแต่ไปลงทะเบียนสอบซ้ำอีกและสอบได้47คะแนนไม่ถึงร้อยละ50จึงไม่ผ่านการที่จำเลยไม่ให้โจทก์จบการศึกษาปี2533จึงชอบด้วยระเบียบดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ซึ่งนายศักดิ์สุบรรณ ลังกาพินธุ์ เป็นบิดาและเป็นสามีของโจทก์ที่ 2ได้ให้ความยินยอมในการฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 3 ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 เป็นนักศึกษาหน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช2530 มีหลักเกณฑ์ว่าถ้านักศึกษาสอบหมวดวิชาใดได้ผลการเรียน 1-4ให้ถือว่าสอบหมวดวิชานั้นได้ โดยจะต้องสอบหมวดวิชาบังคับ5 หมวดวิชา และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 3 หมวดวิชา และต้องผ่านเกณฑ์การพบกลุ่ม ในภาคเรียนที่ 2 ปี 2532 โจทก์ที่ 1 ได้สอบผ่านหลักสูตรมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในหมวดวิชาบังคับรวม 3 หมวด คือวิชาภาษาไทย 1 วิทยาศาสตร์ 1 และพื้นฐานวิชาชีพเกษตรและหมวดวิชาเลือก สังคมศึกษา 2 ในปี 2533 โจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนสอบหมวดวิชาบังคับสังคมศึกษา 1 พลานามัย หมวดวิชาเลือกวิชาภาษาไทย 2 เทียบโอนผลการเรียน แต่ด้วยความผิดหลงโจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนในหมวดวิชาภาษาไทย 1 วิชาเลือกวิชาสังคมศาสตร์ 2ซ้ำอีก ซึ่งโจทก์ที่ 1 สอบได้แล้ว ผลปรากฏว่า โจทก์ที่ 1สอบผ่านทุกวิชาที่ลงทะเบียนไว้ ยกเว้นหมวดวิชาภาษาไทย 1เมื่อรวมผลการเรียนในปี 2532 และ 2533 โจทก์ที่ 1 สอบได้หมวดวิชาบังคับ 5 หมวด วิชาเลือก 3 หมวด และผ่านเกณฑ์การพบกลุ่มโจทก์ที่ 1 จึงสอบผ่านครบหลักเกณฑ์ และจบการศึกษา มีสิทธิขอรับหลักฐานแสดงผลการเรียนและใบรับรองจบการศึกษาจากจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศผลการเรียน ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จบการศึกษาทั้ง ๆ ที่โจทก์ที่ 1 สอบผ่านครบทุกหมวดวิชา ไม่ยอมออกใบรับรองให้อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนซ้ำในหมวดวิชาที่สอบผ่านแล้วซึ่งผลการเรียนซ้ำวิชาเดิมนั้นสอบไม่ผ่านในครั้งหลัง และถือว่าเป็นการยกเลิกครั้งแรก ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2534 โจทก์ทั้งสองไปพบจำเลยที่ 1 เพื่อให้ออกผลใบรับรองการเรียนให้ โจทก์ที่ 2อ้างระเบียบต่าง ๆ ในหนังสือคู่มือนักศึกษา ซึ่งปรากฏว่าไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการลงทะเบียนซ้ำไม่มีข้อความตัดสิทธินักศึกษาว่าถ้าลงทะเบียนซ้ำจะเป็นเช่นไร เมื่อโจทก์ที่ 1ยังมีสภาพเป็นนักศึกษาอยู่ ผลการเรียนหมวดวิชาภาษาไทย 1ที่สอบได้ก็ชอบที่จะสะสมได้ถึง 5 ปี และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม2534 โจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ตีความวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 จบการศึกษาหรือไม่ จำเลยที่ 2ได้แจ้งผลการตีความให้โจทก์ที่ 2 ทราบว่าการที่โจทก์ที่ 1ลงทะเบียนใหม่ เท่ากับไม่ประสงค์จะเก็บสะสมหมวดวิชาเดิมจึงต้องใช้ผลการเรียนครั้งหลัง โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยในการตีความดังกล่าว เพราะขัดกับหลักเกณฑ์ ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต้องลงทะเบียนใหม่ ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 สมัครเรียนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าลงทะเบียนหมวดวิชาภาษาไทย 1 ใหม่ เป็นเงิน 75 บาท เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปลงทะเบียน 70 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบ1 ครั้ง 70 บาท รวมเป็นเงิน 215 บาท หากโจทก์ที่ 1 จบการศึกษาในปี 2533 ก็จะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น 1 ปีและสามารถจะรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่าอัตราเงินเดือน เดือนละ 4,020 บาท 12 เดือนเป็นเงิน 48,240 บาท หากโจทก์ที่ 1 จบการศึกษาเร็ว 1 ปีโจทก์ที่ 2 ไม่ต้องเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 ต่อ ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 เป็นเวลาอีก 1 ปีขอค่าเลี้ยงดูเดือนละ 3,000 บาท 1 ปี เป็นเงิน 36,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 84,455 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ออกหลักฐานแสดงผลการเรียนและใบรับรองจบการศึกษากับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 84,455 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามยอมรับว่าโจทก์ที่ 1เป็นนักศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานครภาคเรียนที่ 2 ปี 2532 โจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนวิชาบังคับ5 หมวดวิชา ผลการสอบ โจทก์ที่ 1 สอบผ่าน 3 หมวดวิชา ภาคเรียนที่ 1 ปี 2533 โจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนวิชาบังคับ 2 หมวด คือภาษาไทย 1 สังคมศึกษา 1 และลงวิชาเลือก 3 หมวด คือ สังคมศึกษา 2คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และเทียบโอนวิชาอีก 1 วิชา ซึ่งการลงทะเบียนครั้งนี้เป็นการลงทะเบียนวิชาภาษาไทย 1 ซ้ำกับภาคเรียนที่ 2 ซึ่งสอบได้แล้ว ผลการสอบปรากฏว่าโจทก์ที่ 1สอบไม่ผ่านวิชาภาษาไทย 1 ส่วนสังคมศึกษา 1 โจทก์ที่ 1 สอบผ่านได้ส่วนวิชาเลือก โจทก์ที่ 1 สอบผ่านวิชาสังคมศึกษา 2 เพียงวิชาเดียวภาคเรียนที่ 2 ปี 2533 โจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนเรียนวิชาบังคับ3 หมวดวิชา คือ สังคมศึกษา 1 พลานามัย ส่วนวิชาเลือกลงทะเบียน2 หมวดวิชา คือ ภาษาไทย 2 และภาษาอังกฤษ การลงทะเบียนในภาคนี้ โจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนวิชาสังคมศึกษา 1 ซ้ำกับภาคหนึ่งปี 2533 ด้วย ผลการสอบประจำภาคโจทก์สอบผ่านวิชาลงทะเบียนทุกวิชา หลังจากสอบภาคเรียนที่ 2 ปี 2533 แล้วได้มีการประกาศผลสอบ ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 สอบไม่ผ่านไม่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยโจทก์ที่ 1 สอบไม่ผ่านวิชาภาษาไทย 1จำเลยทั้งสามกระทำตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ออกใบรับรองการจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้โจทก์ที่ 1 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนสอบวิชาภาษาไทย 1 ซ้ำอีกแล้วสอบไม่ผ่าน เท่ากับโจทก์ที่ 1 ได้สละสิทธิในการสอบที่ผ่านมาเนื่องจากมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก พ.ศ. 2527แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2529 กำหนดว่า การลงทะเบียนซ้ำหมวดวิชาที่สอบได้แล้วจะกระทำมิได้ หากพบภายหลังว่ามีการสอบซ้ำจะตัดสินผลการสอบครั้งที่ได้คะแนนต่ำสุดเป็นผลการศึกษา จึงถือว่าโจทก์ที่ 1สอบไม่ผ่านหมวดวิชาภาษาไทย 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานครในสังกัดของจำเลยที่ 3มีหน้าที่เป็นผู้อนุมัติผลการเรียนและการจบหลักสูตร จำเลยที่ 2เป็นอธิบดีของจำเลยที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 เป็นนักศึกษาหน่วยจัดการศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้จบหลักสูตรว่า ต้องสอบได้หมวดวิชาบังคับ 5 หมวดวิชา และหมวดวิชาเลือกไม่น้อยกว่า3 หมวดวิชา กับต้องผ่านเกณฑ์การพบกลุ่มและกิจกรรมการพบกลุ่มของวิธีการเรียน ตามที่ระเบียบกิจกรรมการพบกลุ่มกำหนดสำหรับหมวดวิชาบังคับ 4 หมวดวิชา คือ สังคมศึกษา 1 วิทยาศาสตร์ 1พลานามัย เกษตร และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 3 หมวดวิชา คือภาษาไทย 2 สังคมศึกษา 2 คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โจทก์ที่ 1สอบได้คะแนนผ่าน ทั้งได้ผ่านเกณฑ์การพบกลุ่มและกิจกรรมพบกลุ่มของวิธีเรียนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนหมวดวิชาบังคับอีก 1 หมวดวิชา คือ ภาษาไทย 1 นั้นในภาคเรียนที่ 2 ปี 2532 โจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนสอบได้คะแนนร้อยละ 55 ต่อมาในภาคเรียนที่ 1ปี 2533 โจทก์ที่ 1 ได้ลงทะเบียนสอบซ้ำอีก แต่สอบได้คะแนนเพียงร้อยละ 47 จำเลยที่ 1 จึงปฏิเสธไม่ออกหลักฐานแสดงผลการเรียนและใบรับรองจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2533ให้แก่โจทก์ที่ 1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานหลักฐานนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 ตามเอกสารหมาย ล.3ที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อศาลชั้นต้นนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อ้างอิงเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88, 90 วรรคหนึ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ตาม แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องที่โจทก์ทั้งสองบรรยายว่า จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ออกหลักฐานแสดงผลการเรียนและใบรับรองจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2533 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1และที่ 3 เห็นว่า การลงทะเบียนซ้ำหมวดวิชาที่สอบได้ไว้แล้วจะกระทำมิได้ ถือว่าโจทก์ที่ 1 สอบไม่ผ่านตามคะแนนครั้งหลังและยกเลิกผลการเรียนครั้งแรกซึ่งตรงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 ข้อ 13.4ที่ได้ระบุไว้ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารหมาย ล.3 เข้าสืบเป็นพยานจึงมีผลให้ศาลทุกชั้นมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานหลักฐานนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์ทั้งสองที่อ้างว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2529 ข้อ 13.4 นั้น จำเลยไม่ได้พิมพ์ลงในคู่มือนักศึกษาและมิได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบ จำเลยจะนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับกรณีของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ และระเบียบดังกล่าวขัดแย้ง และถูกยกเลิกไปแล้วโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรนอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพุทธศักราช 2530 ข้อ 4 และโจทก์ที่ 1 ได้สอบผ่านวิชาบังคับหมวดวิชาภาษาไทยแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ได้เข้าเป็นนักศึกษานอกโรงเรียนประเภทบุคคลภายนอกโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการย่อมต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 ยอมตกอยู่ภายในบังคับแห่งกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาและสถานศึกษา ทั้งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 ดังกล่าว ก็เป็นระเบียบฉบับหนึ่งที่สถานศึกษาที่โจทก์ที่ 1 เข้าศึกษาใช้บังคับอยู่การที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าตนไม่ทราบระเบียบดังกล่าว เพราะจำเลยทั้งสามซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไม่แจ้งหรือไม่ลงระเบียบดังกล่าวในคู่มือนักศึกษาจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่จำเลยพิจารณาว่าโจทก์ที่ 1 จบการศึกษาหรือไม่ โดยได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาประเภทบุคคลภายนอก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529ข้อ 13.4 ที่ระบุว่า การลงทะเบียนซ้ำหมวดวิชาที่สอบได้ไว้แล้วจะกระทำมิได้ หากพบมีการสอบซ้ำจะตัดสินการสอบที่ได้คะแนนต่ำสุดเป็นผลการศึกษาของนักศึกษา ฯลฯ ซึ่งระเบียบดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพุทธศักราช 2530 ข้อ 4 เพราะระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2530 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 23 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายนพ.ศ. 2515 ซึ่งให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2530เป็นต้นไปนั้น มิได้กำหนดในเรื่องลงทะเบียนซ้ำในกรณีที่สอบในวิชานั้นได้แล้ว กลับมาลงซ้ำในวิชานั้น ๆ อีกไว้ คงกำหนดแต่ในเรื่องลงทะเบียนซ้ำกรณีสอบได้ระดับ “0” คือ สอบตกแล้วจึงมาลงทะเบียนซ้ำเพื่อสอบใหม่ไว้เท่านั้น ระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ขัดแย้งกัน และใช้ประกอบการพิจารณาด้วยกันได้ ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 1 สอบผ่านวิชาบังคับหมวดวิชาภาษาไทยได้แล้ว แต่ไปลงทะเบียนสอบซ้ำอีก เมื่อในการสอบวิชาภาษาไทยซ้ำครั้งนี้ โจทก์ที่ 1 สอบได้ 47 คะแนน ไม่ถึงร้อยละ 50จึงไม่ผ่าน การที่จำเลยทั้งสามไม่ให้โจทก์ที่ 1 จบการศึกษาปี 2533 จึงเป็นการวินิจฉัยโดยชอบด้วยระเบียบดังกล่าวแล้วกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน