คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7066/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเวนคืนที่ดินตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ฯ พ.ศ.2511และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ.2516 การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการต่อไปในเรื่องค่าทดแทนต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1)ให้นำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกามาพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทนด้วย แต่พระราชกฤษฎีกา มีผลใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2511 จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งราคาทดแทนให้โจทก์ทราบหลังจากนั้นมากกว่า 20 ปี จึงไม่เป็นไปตามครรลอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521มาตรา 33 วรรคสาม จึงให้นำราคาซื้อขายใน พ.ศ.2531ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่มาพิจารณาแทน สำเนาโฉนดที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่43 ตารางวา เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยทั้งสามไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงฟังได้ว่าที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวา จริง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า โจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 10,972,500 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 10,927,500 บาท นั้นเป็นการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26วรรคสุดท้าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในเวลาที่ต่างกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคงที่ตลอดไปจึงไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแก้ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2570 เนื้อที่ 2 งาน 55 ตารางวาถูกเวนคืนคิดเป็นเนื้อที่ 43 ตารางวา แต่จำเลยทั้งสามอ้างว่าถูกเวนคืนเพียง 40 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้ 3,822,500 บาท จากการเวนคืนทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นคิดเป็นเงิน 2,215,000 บาทเอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนคงเหลือเป็นเงิน1,607,500 บาท การกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอยู่ติดกับถนนสุรวงศ์อันเป็นแหล่งชุมชนและธุรกิจการค้าเป็นย่านที่มีความเจริญสูงสุดมีราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ600,000 บาท การเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าส่วนที่เหลือมีราคาลดลง คณะกรรมการและจำเลยทั้งสามไม่มีอำนาจหักเงินค่าทดแทนเพราะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการคำนวณค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ขอคิดตารางวาละ600,000 บาท โจทก์ทั้งห้าได้รับค่าทดแทนแล้ว 1,205,625 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 24,594,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสามให้การว่า คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งห้าตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี2531 ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 40 ตารางวาเป็นเงิน 3,822,500 บาท ที่ดินส่วนที่เหลือ 215 ตารางวา มีค่าความเจริญขึ้น 92 ตารางวา คิดตามราคาประเมินในปีปัจจุบันเป็นเงิน 2,215,000 บาท เมื่อเอาไปหักออกจากค่าทดแทนจำนวน3,822,500 บาท คงเป็นค่าทดแทน 1,607,500 บาท โจทก์ทั้งห้าได้รับค่าทดแทนไปแล้ว 1,205,625 บาท ราคาซื้อขายที่โจทก์ทั้งห้าอ้างมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,927,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าเป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ.2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ.2516แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าก็ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ที่แก้ไขแล้ว ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ.2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 คดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ.2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2533 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่มารดาโจทก์ทั้งห้าและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ทราบตามเอกสารหมาย จ.2การที่จำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ทั้งห้า ปล่อยระยะเวลาเนิ่นนานมากว่า 20 ปีเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสามทำให้โจทก์ทั้งห้าขาดโอกาสที่จะนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งห้าที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้า ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดจนสภาพและที่ตั้งของที่ดินโจทก์ทั้งห้าในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้า และจำเลยทั้งสามก็ยอมรับว่าการกำหนดค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรมจึงได้กำหนดให้ใช้ราคาค่าทดแทนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน พ.ศ.2531 ถึง 2534 แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามนำราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพียงประการเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งห้านั้นยังไม่เป็นธรรมพอ กรณีนี้ควรใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกันเว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาที่ดินของโจทก์ทั้งห้าเปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ จึงจักเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งโจทก์ทั้งห้านำสืบว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าอยู่ติดถนนสุรวงศ์เป็นย่านธุรกิจการค้ามีความเจริญมากที่ดินที่ติดถนนสุรวงศ์ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับที่ดินของโจทก์ทั้งห้าได้ขายให้แก่บริษัทซี.พี.-เอไอเอ จำกัด เมื่อวันที่13 มิถุนายน 2534 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 38 เศษ 3 ส่วน 10ตารางวา ในราคา 189,000,000 บาท หรือตารางวาละ350,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.7 จ.8 และตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน พ.ศ.2531ถึง 2534 เอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 3 ระบุว่า ที่ดินติดถนนสุรวงศ์ตารางวาละ 400,000 บาท จำเลยทั้งสามนำสืบว่า ราคาประเมินของที่ดินโจทก์ทั้งห้าในปี 2531 ตารางวาละ 120,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.5 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสามต่างนำสืบฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ทั้งห้าที่จะต้องถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในปี 2531เป็นราคาเท่าใด เมื่อคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5)โดยเฉพาะสภาพและที่ตั้งของที่ดินโจทก์ทั้งห้าอยู่ติดถนนสุรวงศ์ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าของกรุงเทพมหานครก่อนถูกเวนคืนย่อมมีราคาสูงอยู่แล้วราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งห้าควรเป็นราคาตารางวาละ 300,000 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ย่อมเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าและสังคมแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนได้หักค่าที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาเพิ่มขึ้นออกไป 2,215,000 บาทซึ่งโจทก์ทั้งห้าได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาให้เพิ่มขึ้นอีก2,215,000 บาท (คือ ยกเลิกการหักค่าที่ดินส่วนที่เหลือที่เพิ่มขึ้น) และโจทก์ทั้งห้าได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วซึ่งจำเลยทั้งสามได้ให้การสู้คดีไว้ในศาลชั้นต้นแต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้คิดหักออกจากจำนวนเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นได้พิจารณาคำให้การของจำเลยทั้งสามในคดีนี้โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วไม่พบข้อความตอนใดที่จะอ่านให้ได้ความหรือพอจะแปลความหมายได้ว่าจำเลยทั้งสามให้การสู้คดีในเรื่องนี้ไว้ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนเนื้อที่ 40 ตารางวาไม่ใช่ 43 ตารางวานั้น โจทก์ทั้งห้านำสืบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวาตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เมื่อพิจารณาสารบัญจดทะเบียนของสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวปรากฏว่าได้ระบุไว้ชัดเจนว่าที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวา โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามที่ถูกอ้างโฉนดที่ดินมายันต้องนำสืบความไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวาจริงฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ปรากฏตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในคำพิพากษาว่า โจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน10,972,500 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน10,927,500 บาท เป็นการพิพากษาผิดพลาดขอให้แก้ไขให้ถูกต้องนั้น ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หน้า 8 ได้วินิจฉัยไว้ว่าเห็นควรกำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 300,000 บาทที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวา เป็นเงิน12,900,000 บาท โจทก์ทั้งห้าได้รับเงินค่าทดแทนแล้วเป็นเงิน1,927,500 บาท จึงได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน10,972,500 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 10,927,500 บาท ย่อมเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวเกิดจากการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และเมื่อจำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี คงที่ตลอดมาจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสามซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน10,972,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share