แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมพ.ศ.2534มาตรา33บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงหรือทบวงและมีฐานะเป็นกรมเมื่ออัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้รองอัยการสูงสุดจึงเป็นผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534มาตรา46วรรคสามโดยรองอัยการสูงสุดผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534มาตรา48วรรคหนึ่งและวรรคสามฉะนั้นเมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499มาตรา9บัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา7เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดรองอัยการสูงสุดผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดจึงมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2535 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-5020 ระยองไปตามทางหลวงหมายเลข 3 จากจังหวัดระยองไปจังหวัดชลบุรีด้วยความประมาท โดยจำเลยเลี้ยวรถไปทางขวาเพื่อเข้าถนนซอยโดยไม่ระมัดระวังตัดหน้ารถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผ-5921 ชลบุรีซึ่งนายยอดยิ่ง มานิตราษฎร์ ผู้เสียหายที่ 1 ขับมาในทิศทางตรงข้ามในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันและนายบุญเลิศ สิงขรเขตผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งโดยสารรถของจำเลยมิได้รับอันตรายแก่กายเหตุเกิดที่ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157เป็นกรณีกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุก 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 แต่ได้รับอนุญาตเช่นนั้นจากรองอัยการสูงสุดซึ่งรักษาราชการแทนอัยการสูงสุดโดยรองอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้ได้เช่นนั้นหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงตามสำนวนได้ความว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในวันที่ 30 ตุลาคม2535 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนได้ผัดฟ้องไว้ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ฟ้องจำเลยด้วยวาจาต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ 10410/2535ของศาลชั้นต้นในวันดังกล่าว ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นให้พนักงานคุมประพฤติประจำศาลชั้นต้นสืบเสาะพินิจเกี่ยวกับจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาในการลงโทษจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 มกราคม 2536 จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพโดยประสงค์จะต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์รับตัวจำเลยคืนเพื่อดำเนินการต่อไปและจำหน่ายคดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 802/2536 ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือที่ อส 0015/2854ลงวันที่ 15 เมษายน 2536 แจ้งอัยการจังหวัดประจำศาลแขวงชลบุรีว่าอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยนายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น หลังจากนั้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2536 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534มาตรา 33 บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และมีฐานะเป็นกรม ดังนั้นเมื่ออัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้รองอัยการสูงสุดจึงเป็นผู้รักษาราชการแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา46 วรรคสาม โดยรองอัยการสูงสุดผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอัยการสูงสุดผู้ซึ่งตนแทนนั้นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา 48 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ฉะนั้นเมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 9 บัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุดผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุด จึงมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือที่ อส 0015/2854 ลงวันที่ 15 เมษายน 2536 ว่านายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด รักษาราชการแทนอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้อัยการประจำศาลแขวงชลบุรีฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้ โจทก์จึงได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 โดยชอบด้วยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้”
พิพากษายืน