คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8226/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะที่จำเลยกระทำผิด ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่85 พ.ศ.2536 เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ตามความใน พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518 ลงวันที่ 19 มกราคม 2536 ได้กำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 โดยสำหรับเมทแอมเฟตามีนกำหนดว่าต้องไม่เกิน 0.500 กรัม แต่ไม่ได้กำหนดให้คำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์และตาม พ.ร.บ.ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 59 บัญญัติให้ถือว่าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้นด้วย และมาตรา 4 บัญญัติว่า “วัตถุตำรับ หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใด ที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ฯลฯ” ดังนี้ ปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์จึงต้องรวมถึงวัตถุตำรับที่ปรุงผสมอยู่ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าวถือว่าของกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ทั้งหมด เมื่อของกลางมีปริมาณเกิน 0.500 กรัม จึงเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2ตามความใน พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ลงวันที่ 3เมษายน 2538 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 85 (พ.ศ.2536)ดังกล่าว และกำหนดการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 โดยเมื่อคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วสำหรับเมทแอมเฟตามีนต้องไม่เกิน 0.500 กรัม เมื่อเป็นดังนี้และปรากฏว่าของกลางตรวจพบเมทแอมเฟตามีนวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันถือเป็นสารบริสุทธิ์หนัก0.217 กรัม ซึ่งไม่เกินตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 92 (พ.ศ.2538) ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ คงมีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่งและมาตรา 106 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้บังคับในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ.มาตรา 3

Share