แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นในที่ดินราชพัสดุที่จำเลยเช่าและแม้อาคารดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงการคลังตามสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุแต่อาคารดังกล่าวมิใช่อาคารที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ระบุไว้ในข้อ1แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่9(พ.ศ.2528)ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็เป็นการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา21เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างรื้อถอนอาคารนั้นได้ตามมาตรา42
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 1 คูหา ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว13.5 เมตร สูง 10.5 เมตร ในบริเวณที่ดินข้างต้นโพธิ์นาเกลือถนนพัทยา-นาเกลือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นท้องที่ให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2479 ในท้องที่ตำบลบางละมุง ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2499 และตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในเขตเมืองพัทยา อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2523 มาตรา 3 โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นเป็นตึกซึ่งอยู่ภายในระยะ 100 เมตร โดยวัดจากเขตควบคุมการก่อสร้างอาคารด้านริมทะเลตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479ดังกล่าวอันเป็นอาคารที่ไม่อาจปลูกสร้างขึ้นได้ตามกฎหมายและเป็นอาคารที่ไม่มีที่ว่างซึ่งต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของขนาดที่ดิน เป็นการกระทำที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ข้อ 3, 4 โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารภายใน 30 วัน แต่จำเลยเพิกเฉยยังคงก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไปจนแล้วเสร็จเป็นบ้านเลขที่ 500หมู่ที่ 4 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แล้วจำเลยได้ครอบครองใช้อาคารดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชยกรรมตลอดมาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายในกำหนด 30 วันจำเลยเพิกเฉยและมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 กล่าวคืออาคารพิพาทเป็นอาคารของราชพัสดุซึ่งมีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในเขตเมืองพัทยาจะใช้บังคับ จำเลยเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทจากราชพัสดุ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองแทนผู้ให้เช่า และมีหน้าที่ดูแลรักษาซ่อมแซมอาคารที่เช่าได้ตามสัญญา โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยแก้ไขเฉพาะส่วนหน้าให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากอาคารเดิมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจเป็นอันตรายแก่ผู้อาศัยและบุคคลข้างเคียง ซึ่งเป็นไปตามสัญญา เมื่อจำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารเรียบร้อยแล้ว อาคารพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของราชพัสดุ จำเลยจึงมิใช่เจ้าของอาคาร ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเลขที่ 500 หมู่ที่ 4 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 13.5 เมตร สูง 10.5 เมตร หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามมาตรา 40, 41 และ 42แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเดิมจำเลยเช่าอาคารเรือนไม้ของที่ราชพัสดุจากนายอำเภอบางละมุงตั้งแต่ปี 2517 เป็นการเช่าปีต่อปี ปรากฏตามสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.18 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525จำเลยรื้อถอนอาคารเรือนไม้แล้วก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น และไม่ได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการที่ราชพัสดุดังกล่าวทราบ เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยกำลังก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงรายงานให้โจทก์ทราบ โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารดังกล่าว จำเลยทราบคำสั่งแล้วแต่ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ โจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อถูกฟ้องต่อศาล จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 25,000 บาท ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.27 คดีถึงที่สุดแล้ว
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า อาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นตกเป็นของกระทรวงการคลังผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุข้อ 7 และข้อ 8 จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องรื้อถอนนั้น เห็นว่าแม้อาคารที่จำเลยก่อสร้างขึ้นอยู่ในที่ดินราชพัสดุและแม้จะฟังว่าอาคารดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงการคลังดังที่จำเลยฎีกา แต่อาคารดังกล่าวก็มิใช่อาคารที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2528) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เมื่อจำเลยก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็เป็นการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21 เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างรื้อถอนอาคารนั้นได้ตามมาตรา 42แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจะอ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องรื้อถอนดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่”
พิพากษายืน