คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ขับรถยนต์โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เพราะปฏิบัติผิดกฎจราจรต่อมาหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่าหากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงานโจทก์จึงหยุดงานไปตั้งแต่วันที่5ถึง16เดือนนั้นโดยไม่มีการยื่นใบลาเช่นนี้การที่โจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์เมื่อส.ซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวว่าหากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงานนั้นย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่านายจ้างสั่งให้โจทก์หยุดงานการทำงานไว้ก่อนจนกว่าจะได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์กลับคืนมาเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับว่าผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่อื่นในกรณีเช่นนี้ด้วยการที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานในระหว่างวันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมิได้มีความผิดต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา582ให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2535 โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ขับรถ รับค่าจ้างสุดท้ายอัตราเดือนละ4,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,866 บาท และค่าชดเชยจำนวน 12,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยจริง โจทก์ไม่ตั้งใจทำงาน ขาดงานบ่อย จำเลยได้ตักเตือนโจทก์หลายครั้งครั้งสุดท้ายโจทก์หยุดงานติดต่อกัน 8 วัน ต่อมาโจทก์ขอกลับเข้าทำงานใหม่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 จำเลยให้โจทก์เขียนใบสมัครงานใหม่ ตกลงกันจ่ายค่าจ้างรายวัน อัตราวันละ 181 บาทหลังจากนั้นโจทก์ไม่เคยมาทำงานกับจำเลยอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ขับรถยนต์ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวว่าหากไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ก็ไม่ต้องมาทำงาน โจทก์จึงไม่มาทำงานระหว่างวันที่ 5 ถึง 16 เดือนนั้นคำกล่าวของนายจ้างมิใช่เป็นการอนุญาตให้โจทก์หยุดงานและมิใช่คำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน แต่การที่จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในใบสมัครเข้าทำงานใหม่วันที่ 17 เดือนเดียวกัน แสดงให้เห็นเจตนาของนายจ้างว่าภายหลังจากโจทก์ไม่มาทำงานติดต่อกันตามระยะเวลาดังกล่าวนายจ้างได้เลิกจ้างโจทก์แล้วเป็นการเลิกจ้างเพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ขับรถยนต์เมื่อเดือนตุลาคม 2536 โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เพราะปฏิบัติผิดกฎจราจร ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน2536 นางสาวสุชาดา อนุกูล หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยกล่าวกับโจทก์ว่า หากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงาน โจทก์จึงหยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 16 เดือนนั้น โดยไม่มีการยื่นใบลาหรือติดต่อมายังจำเลยแต่อย่างใด และฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 17 เดือนเดียวกัน มีปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายของโจทก์ว่า การที่โจทก์ไม่มาทำงานระหว่างวันที่5 ถึง 16 พฤศจิกายน 2536 เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์เมื่อนางสาวสุชาดาซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวว่าหากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงานนั้นย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่านายจ้างสั่งให้โจทก์หยุดการทำงานไว้ก่อนจนกว่าจะได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์กลับคืนมา เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับว่าผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่อื่นในกรณีเช่นนี้ด้วย การที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานในระหว่างวันดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใด ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยจ้างโจทก์เมื่อวันที่1 มิถุนายน 2535 ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ 4,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ต่อมาวันที่17 พฤศจิกายน 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์หยุดงานไปในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุสมควรดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมิได้มีความผิด ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เก้าสิบวันของค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 46 (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2536 และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เป็นเวลา 29 วัน
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 12,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,866 บาท แก่โจทก์

Share