คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2197/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้ปิดกับกระป๋องนมมีลักษณะประกอบกัน3ประการคือแม่หมีอุ้มลูกอักษรโรมันคำว่า”BEARBRAND”และอักษรไทยคำว่า”ตราหมี”ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1มีลักษณะประกอบกัน5ประการคือลูกหมีขวดนมถ้วยอักษรโรมันคำว่า”SIMILAC”และอักษรไทยคำว่า”ซิมิแลค”เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายที่มีลักษณะเดียวกันมีเพียงรูปหมีลำพังแต่รูปหมีทั่วๆไปโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสงวนไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียวสำหรับรูปหมีของจำเลยที่1เป็นรูปตุ๊กตาหมีตัวเดียวรูปขวดนมสูงใหญ่และรูปถ้วยใหญ่ประกอบกับชื่อสินค้าเป็นอักษรโรมันและอักษรไทยตัวใหญ่แสดงว่าไม่ได้เน้นที่รูปตุ๊กตาหมีเป็นสาระสำคัญซึ่งแตกต่างกับรูปหมีของโจทก์เป็นรูปแม่หมีอุ้มลูกหมีประกอบกับชื่อสินค้าทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยเรียกตราหมีส่วนที่เรียกทางการค้าซึ่งของโจทก์เรียกขานว่าตราหมีของจำเลยที่1เรียกขานว่าซิมิแลคเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่1จึงมีลักษณะไม่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันจะทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรูปหมีในลักษณะต่าง ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้า เช่นรูปหมีตุ๊กตาหลายแบบ รูปหมีนั่งถือขวดนมให้นมลูก รูปหมีนั่งอุ้มลูกเป็นต้น และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรไทยว่า “ตราหมี” อักษรโรมันคำว่า “BEAT BRAND” อ่านว่า”แบร์แบรนด์” แปลว่าตราหมี โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามทะเบียนเลขที่ 57253 (คำขอเลขที่ 85043) เลขที่ 123672 (คำขอเลขที่176066) เลขที่ 29296 (คำขอเลขที่ 36571) เลขที่ 72050(คำขอเลขที่ 113056) เลขที่ 63231 (คำขอเลขที่ 89161)และเลขที่ 81835 (คำขอเลขที่ 114256) เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 42 ชนิดสินค้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นมผลิตภัณฑ์นมและผลไม้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531จำเลยที่ 1 ได้นำเครื่องหมายการค้าที่มีสาระสำคัญรูปหมีพร้อมอักษรไทย คำว่า “ซิมิแลค” อักษรโรมันคำว่า”SIMILAC” ไปยื่นคำขอจดทะเบียน เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก42 ชนิดสินค้าบรรดาทั้งมวลในจำพวกดังกล่าว ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 13 โจทก์ได้ยื่นคำขอคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้าน เมื่อประมาณปี 2531จนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันทำสลากที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อปิดกระป๋องนมผงของจำเลยที่ 1 จำหน่ายแก่ผู้ซื้อในประเทศไทยทำให้สาธารณชนผู้พบเห็นจะสังเกตุ จดจำและเรียกนมผงดังกล่าวว่า “นมผงตราหมีหรือนมตามหมี”เช่นเดียวกับการสังเกตุ จดจำและเรียกขานผลิตภัณฑ์นมของโจทก์ เป็นเหตุให้สับสนหลงผิดได้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยอันเป็นการลวงขายและใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสามยุติการละเมิดในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เสีย แต่ไม่เป็นผลทำให้ยอดจำหน่ายนมผงสำหรับใช้เลี้ยงทารกของโจทก์ตกต่ำลงขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิในรูปหมีที่เหมือนหรือคล้ายกับรูปหมีในลักษณะต่าง ๆ ที่โจทก์ได้ใช้และโฆษณาแล้วดีกว่าที่จำเลยทั้งสามใช้นั้น และให้จำเลยที่ 1 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 182638 ห้ามจำเลยทั้งสามยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หรือเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่มีรูปหมีเป็นภาคส่วนสาระสำคัญอีกต่อไปให้จำเลยที่ 1เลิกผลิต จำเลยที่ 2 เลิกนำเข้า และจำเลยที่ 3 เลิกจำหน่ายนมผงที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายอีกเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะเลิกทำละเมิดตามฟ้องต่อโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารกของจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ซิมิแลค”อักษรโรมันคำว่า “SIMILAC” และมีสัญลักษณ์ขวดนมใหญ่ รูปหมีตุ๊กตากับถ้วยบรรจุน้ำนมเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มียอดจำหน่ายสูงกว่าของโจทก์มากนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าตราหมีที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้มีลักษณะบ่งเฉพาะเป็นรูปตุ๊กตาหมีอุ้มลูกถือขวดนมป้อนลูกรูปตุ๊กตาหมีอุ้มลูก รูปหมีถือขวดนมให้ลูก รูปหมีนั่งอุ้มลูกและรูปตุ๊กตาหมีนั่งตัวเดียวกับเป็นอักษรไทยคำว่า”ตราหมี” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะบ่งเฉพาะเป็นตัวอักษรไทยคำว่า “ซิมิแลค” อักษรโรมันคำว่า”SIMILAC” และมีรูปขวดนมขนาดใหญ่ รูปตุ๊กตาหมีกับถ้วยบรรจุน้ำนมซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในสินค้าของโจทก์จำเลยจึงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สินค้าของจำเลยเป็นที่นิยมแพร่หลาย ผู้บริโภคเรียกว่า “นมผงซิมิแลค” หรือ “ซิมิแลค” มิได้เรียกว่า”นมตราหมี” เครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะพิจารณาเฉพาะรูปภาพซึ่งประกอบด้วยขวดนม ตุ๊กตาหมีและถ้วยบรรจุนมก็มิได้มีลักษณะบ่งเฉพาะเหมือนหรือคล้ายกับรูปหมีของโจทก์เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะจดทะเบียนได้โจทก์มีสิทธิเฉพาะรูปหมีแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้นรูปหมีทั่ว ๆ ไปโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสงวนไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ผู้เดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติตามที่โจทก์จำเลยทั้งสามนำสืบรับกันว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านมที่ผลิตจำหน่ายรวมกัน 7 แบบ คือ รูปหมีนั่งอุ้มลูก รูปหมีถือขวดนมให้นมลูก รูปตุ๊กตาหมีอุ้มลูกถือขวดนมป้อนนมลูกอักษรไทยคำว่า “ตราหมี” รูปตุ๊กตาหมี อักษรโรมันคำว่า”BEAR BRAND” และรูปตุ๊กตาหมีนั่งอุ้มลูก ตามทะเบียนเลขที่ 7205, เลขที่ 29296, เลขที่ 57253, เลขที่ 63231,เลขที่ 81835, เลขที่ 85967, และเลขที่ 123672 ตามลำดับและจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยมีภาพตุ๊กตาหมี ขวดนมถ้วย อักษรโรมันคำว่า “SIMILAC” และอักษรไทยคำว่า “ซิมิแลค”ตามคำขอเลขที่ 182638 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้ปิดกับกระป๋องนมตามเอกสารหมาย จ.31 มี 10 แบบ มีลักษณะประกอบกัน3 ประการ คือ แม่หมีอุ้มลูก อักษรโรมันคำว่า “BEAR BRAND”และอักษรไทยคำว่า “ตราหมี” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีลักษณะประกอบกัน 5 ประการ คือ ลูกหมีขวดนม ถ้วย อักษรโรมันคำว่าK “SIMILAC” และอักษรไทยคำว่า”ซิมิแลค” เครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายที่มีลักษณะเดียวกันมีเพียงรูปหมี ลำพังแต่รูปหมีทั่ว ๆ ไปนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะสงวนไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนแต่ผู้เดียวสำหรับรูปหมีของจำเลยที่ 1 เป็นรูปลูกตุ๊กตาหมีตัวเดียวรูปขวดนมสูงใหญ่และรูปถ้วย ก็ใหญ่ประกอบกับชื่อสินค้าเป็นอักษรโรมันและอักษรไทยเป็นตัวใหญ่ แสดงว่าไม่ได้เน้นที่รูปตุ๊กตาหมีเป็นสาระสำคัญ ซึ่งแตกต่างกับรูปหมีของโจทก์เป็นรูปแม่หมีอุ้มลูกหมีประกอบกับชื่อสินค้าทั้งอักษรโรมันและอักษรไทยเรียกตราหมี นายบุญมา เตชะวณิชผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนแล้วมีลักษณะสาระสำคัญอยู่ที่รูปหมี นายพยุงศักดิ์ คุ้มประสงค์ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายซื้อของห้างเจซีดีพาทเม้นท์สโตร์ พยานจำเลยเบิกความว่า ห้างที่พยานทำงานเวลาสั่งซื้อสินค้ามาขายเรียกชื่อประเภทสินค้ามากกว่าตรา สินค้านมที่สั่งซื้อจากบริษัทเนสท์เล่เรียกว่านมตราหมี ส่วนสินค้านมที่สั่งซื้อจากจำเลยที่ 3เรียกว่านมซิมิแลค สาธารณชน เมื่อจะซื้อสินค้าก็ย่อมต้องเรียกชื่อทางการค้าของสินค้านั้น สินค้าทุกประเภทจะต้องมีชื่อเรียกทางการค้าเป็นหลักดั่งเห็นได้โดยทั่วไปมิฉะนั้นจะเรียกซื้อได้อย่างไร เมื่อนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โดยลักษณะรวมเทียบเคียงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เห็นได้ชัดเจนว่าแตกต่างกันมากโดยเฉพาะชื่อเรียกทางการค้าซึ่งของโจทก์เรียกขานว่าตราหมี ของจำเลยที่ 1 เรียกขานว่าซิมิแลค ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1มีลักษณะไม่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันจะทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนและห้ามจำเลยทั้งสามใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1
พิพากษายืน

Share