คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ตามสัญญาโจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จโดยการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ แต่ค่าปรับที่ระบุไว้ในสัญญาถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้า ทั้งการที่งานก่อสร้างเสร็จล่าช้าเป็นเพราะการดำเนินการของโจทก์ด้วยส่วนหนึ่งประกอบกับโจทก์จ้างผู้รับจ้างคนใหม่ทำงานงวดที่เหลือต่อในวงเงินเท่ากับที่จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 หากจำเลยก่อสร้างเสร็จตามสัญญา เบี้ยปรับที่จะพึงริบตามสัญญาจึงสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ตามสัญญาจ้างไม่มีการวางเงินมัดจำ แต่มีการทำหนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคารภายในวงเงินร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ซึ่งตามสัญญาผู้ว่าจ้างจะคืนเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่ผู้รับจ้างเงินที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระให้แก่ผู้ว่าจ้างเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำ แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลังราคา 2,840,000 บาท รวมทั้งค่าวัสดุและค่าแรงงาน กำหนดชำระเงิน5 งวด และให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดยอมให้ปรับวันละ 4,733 บาท จนกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ จำเลยที่ 1ก่อสร้างงวดที่ 4 เสร็จเลยกำหนดไป 49 วัน เมื่อรับเงินค่างานงวดที่ 4 ไปแล้วละทิ้งงานไป โจทก์บอกเลิกสัญญาและทำสัญญาจ้างห้าง ว. ก่อสร้างงานงวดที่ 5 ต่อ ในราคา 620,000 บาท โดยห้างว. ขอตัดรายการครุภัณฑ์ราคา 197,600 บาท ออก ห้าง ว. ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินกำหนดเวลาในสัญญา 441 วัน โจทก์ได้หักค่าปรับจากเงินที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 แล้ว 49 วัน จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าปรับให้โจทก์อีก 392 วัน เป็นเงิน 1,855,336 บาท และต้องรับผิดที่โจทก์ไม่ได้ครุภัณฑ์อีกเป็นเงิน 197,600 บาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ขอให้ร่วมกันใช้เงิน 2,052,936 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาจ้างโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย โจทก์เรียกเงินประกันความเสียหายจากธนาคารผู้ค้ำประกันการก่อสร้างจำนวน 142,000 บาท ไปแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอีกคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 26,083 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29กันยายน 2521 โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อสร้างอาคารโรงเรียนหล่มสักวิทยาคม แบบ 318 ค. ในราคา 2,840,000 บาทกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยแบ่งการชำระเงินตามผลงานออกเป็น 5 งวด ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 4 แล้วเสร็จช้ากว่ากำหนดไป 49 วัน โจทก์ได้หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างงวดที่ 4 ไปเป็นเงิน 231,917 บาทจำเลยที่ 1 ละทิ้งงานงวดที่ 5 ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2523 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และยึดเงินค้ำประกันจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน142,000 บาท วันที่ 6 พฤษภาคม 2523 โจทก์ได้เปิดประมูลงานงวดที่ 5ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการเป็นผู้ประมูลได้แต่ขอตัดรายงานครุภัณฑ์ โต๊ะ ม้านั่งนักเรียนออก 520 ชุด คิดเป็นเงิน 197,600 บาทและทำสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2523 กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.17 ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กันยายน 2522 จำเลยที่ 1 ละทิ้งงานโจทก์ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการทำการก่อสร้างงานงวดที่ 5 งานแล้วเสร็จในวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ล่าช้ากว่ากำหนดไป 441 วัน จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 4 ช้ากว่ากำหนดไป 49 วันซึ่งโจทก์หักเงินค่าปรับจากเงินค่าจ้างที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วจำเลยจึงต้องชำระค่าปรับอีก 392 วัน ค่าปรับวันละ 4,733 บาทรวมเป็นเงินค่าปรับ 1,855,336 บาท และโจทก์เสียหายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการขอลดโต๊ะ ม้านั่งนักเรียนไป 520 ชุด เป็นเงิน197,600 บาท รวมค่าเสียหายและค่าปรับเป็นเงิน 2,052,936 บาทซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาข้อ 5 ก. และข้อ 6 โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนกว่างานก่อสร้างรายนี้จะแล้วเสร็จโดยการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่คือห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการก็ตาม แต่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 4 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน2522 เลยกำหนดในสัญญาไป 49 วัน และโจทก์ได้ปรับไปแล้ว แล้วได้ละทิ้งงานงวดที่ 5 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2523หลังจากครบกำหนดตามสัญญาเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษ และเมื่อวันที่6 พฤษภาคม 2523 ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการเป็นผู้ประมูลงานงวดที่ 5 ได้ แต่ได้เข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2523 หลังจากประมูลได้เป็นเวลาถึง 4 เดือน ส่วนระยะเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการทำการก่อสร้างงานส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1จนแล้วเสร็จเป็นเวลาเพียง 100 วันเท่านั้น จึงเห็นได้ว่าการที่งานก่อสร้างรายนี้เสร็จล่าช้า เป็นเพราะความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์เองด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ค่าปรับที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 โจทก์จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการก่อสร้างงานงวดที่ 5 ต่อในวงเงินเท่ากับที่จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสร็จตามสัญญาทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ได้เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับเหตุแห่งความล่าช้า ค่าจ้างก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 5และระยะเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวุฒิชัยบริการใช้ในการก่อสร้างต่อจากจำเลยจนแล้วเสร็จ ศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับที่จะพึงริบนั้นสูงเกินส่วน เห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าปรับที่ทำงานล่าช้าไปเพียง 100 วัน ค่าปรับวันละ 4,733 บาท รวมเป็นเงิน473,300 บาท
ที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาค่าครุภัณฑ์ โต๊ะ ม้านั่งนักเรียน 520 ชุด คิดเป็นเงิน 197,600 บาทเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าปรับ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ระบุว่าโจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 318 ค. ของโรงเรียนหล่มสักวิทยาคมตามแบบและรายการที่แนบท้ายสัญญา ส่วนสัญญาข้อ 13 รายการและรูปแบบซึ่งแนบติดกับสัญญาระบุว่ามีแบบรูปรายการครุภัณฑ์ 1 แผ่น แต่ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์นำส่งศาล ไม่ปรากฏว่ามีรายการรูปแบบครุภัณฑ์หรือโต๊ะ ม้านั่งนักเรียนรวมอยู่ในสัญญาแต่อย่างใดโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ แต่โจทก์ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าโต๊ะและม้านั่งนักเรียนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานงวดที่ 5 ซึ่งจำเลยจะต้องทำให้แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบปฏิเสธว่า โต๊ะและม้านั่งดังกล่าวไม่มีในงานงวดที่ 5ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า โต๊ะและม้านั่งนักเรียนจำนวน520 ชุด เป็นงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องทำให้แล้วเสร็จตามสัญญาจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ค้ำประกันได้ชำระเงิน 142,000 บาทให้โจทก์ เป็นเงินมัดจำและโจทก์มีสิทธิริบเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ไม่ใช่ค่าเสียหายและไม่เป็นค่าปรับนั้นเห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีการวางเงินมัดจำกันแต่อย่างใด ตามสัญญาข้อ 1 มีหนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคารภายในวงเงินร้อยละ 5 ของเงินค่าจ้าง คิดเป็นเงิน142,000 บาท และตามสัญญาข้อ 3 โจทก์ผู้ว่าจ้างจะคืนเงินประกันหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเงินที่โจทก์รับมาจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 142,000 บาทจึงเป็นเงินที่ธนาคารจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ถือว่าเป็นเงินมัดจำ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์รับไปถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดที่งานงวดที่ 5ล่าช้าเป็นเงิน 473,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายไปจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน 142,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดแก่โจทก์อีกเป็นเงิน 331,300 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 331,300 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share