คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1960/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อมาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตกลงผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ1,500บาทซึ่งโจทก์ก็ยอมตกลงย่อมถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่โดยการผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา166เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขานครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2510 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์และเดินบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ครั้นวันที่ 1 มีนาคม2520 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ โดยยอมรับว่าเพียงวันที่ 29 มีนาคม 2529 เป็นหนี้โจทก์รวม 409,135.32บาท ขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท สัญญาชำระทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มแต่เดือนมีนาคม 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน ต่อมาวันที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2526 เป็นเงิน 22,706.66 บาทจำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันที่29 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2535 เป็นหนี้รวม 1,419,153.73บาท ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2535 โจทก์ได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ที่โจทก์ สาขานครศรีธรรมราชเข้าหักชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงยังคงเป็นหนี้โจทก์ 1,174,368.55 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองได้รับแล้วไม่ชำระ ขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
จำเลยทั้งสองให้การว่า การตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดและผ่อนใช้ทุนคืนเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ 1,500 บาทจำเลยที่ 1 ชำระให้เพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2526นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย และวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2510 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ และเดินบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้นวันที่ 1 มีนาคม 2520 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ โดยยอมรับว่าเพียงวันที่ 29 มีนาคม 2514 เป็นหนี้โจทก์รวม 409,135.32 บาทขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท สัญญาชำระทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มแต่เดือนมีนาคม 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ต่อมาจำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2526เป็นเงิน 22,706.66 บาท มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จากคำฟ้องของโจทก์เองได้ความว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน 22,706.66 บาท ไปชำระให้โจทก์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 โจทก์ก็รับไว้ แสดงว่าโจทก์เองก็ยอมตกลงด้วยตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเห็นว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้าย คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้ตกลงผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 1,500 บาท ซึ่งโจทก์ก็ยอมตกลงด้วยดังวินิจฉัยแล้วในประการแรกย่อมถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่โดยการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งคดีนี้ปรากฎว่าเมื่อจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องเริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2520 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่เมื่อครบกำหนดที่จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้ในงวด ๆ นั้น สิทธิเรียกร้องในหนี้งวดใดที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4พฤศจิกายน 2535 ซึ่งสิทธิเรียกร้องในหนี้งวดที่อยู่ภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันฟ้องที่ไม่ขาดอายุความและเมื่อคำนวณแล้วเป็นหนี้ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท อยู่ในหลักเกณฑ์ที่โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายได้ ที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายโดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share