คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยและว.ต่างขับรถยนต์โดยประมาทและต่างถูกร้อยตำรวจโทอ.พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับการที่ร้อยตำรวจโทอ.เปรียบเทียบปรับจำเลยและว. และค่าเสียหายของรถยนต์ทั้งสองคันได้มีการตกลงกันให้ต่างคนต่างซ่อมโดยขณะนั้นช. เจ้าของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการชนกันไม่ได้คัดค้านแสดงว่าเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยและว. ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันจึงได้มีการตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่จะพึงมีต่อกันข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นผลให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไป การที่ช. ยินยอมให้ว. ตกลงระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเท่ากับช.แสดงออกหรือยอมให้ว. แสดงออกว่าว. เป็นตัวแทนของช. ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความช. จึงต้องผูกพันและรับเอาผลของการที่ว. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีเหตุควรเชื่อว่าว.เป็นตัวแทนของช.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา821โจทก์จะอ้างว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา789ไม่ได้ แม้ร้อยตำรวจโทอ. พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเพื่อเปรียบเทียบปรับจำเลยและว.แต่เมื่อเอกสารดังกล่าวมีข้อตกลงระหว่างคู่กรณีที่มุ่งจะระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ค-2020 กรุงเทพมหานคร โดยคุ้มครองในวงเงิน 550,000 บาท มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2531 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2531เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2531 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ร-7969 กรุงเทพมหานคร จากหลักสี่ไปตามถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งหน้าไปทางรังสิตด้วยความประมาทกล่าวคือเมื่อจำเลยขับรถยนต์ไปถึงที่เกิดเหตุอันเป็นทางแยกจำเลยเห็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ค-2020 กรุงเทพมหานครกำลังแล่นสวนทางมา ควรที่จำเลยจะชะลอความเร็วและหยุดรถที่ตนขับตรงทางแยกเพื่อให้รถยนต์คันดังกล่าวซึ่งขับโดยนายวีระยุทธเตชะวิวัฒนาการ แล่นผ่านพ้นไปเสียก่อนจึงจะเลี้ยวรถเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน จำเลยกลับเร่งความเร็วแล้วเลี้ยวขวาตรงทางแยกดังกล่าวในลักษณะตัดหน้ารถยนต์คันที่นายวีระยุทธขับในระยะกระชั้นชิดสุดวิสัยที่นายวีระยุทธห้ามล้อได้ทัน จึงเกิดปะทะชนกันขึ้นตรงปากทางแยกดังกล่าว เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่นายวีระยุทธขับพุ่งเข้าชนแถบข้างรถด้านซ้ายของรถยนต์คันที่จำเลยขับ หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนี และเหตุชนกันทำให้รถยนต์คันที่นายวีระยุทธขับได้รับความเสียหาย แถบหน้ารถตั้งแต่กันชนหน้าบังโคลนหน้าทั้งซ้ายและขวา ฝากระโปรงหน้า ไฟหน้าใหญ่ และไฟหรี่ทั้งซ้ายและขวาตะแกรงหน้า หม้อน้ำ รังผึ้ง แอร์ กระจกบังลมหน้าเสียหายทั้งหมด รวมทั้งพวงมาลัยและส่วนอื่น ๆ ด้วย โจทก์ในฐานะที่รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายวิชัย วสีพันธ์พงศ์ ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 290,000 บาทโจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายและทวงถามจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน311,750 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 290,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ตกลงกับนายวีระยุทธว่าความเสียหายของรถทั้งสองคันอันเกิดการชนปะทะกันให้ต่างคนต่างซ่อมรถยนต์ของตนเอง และได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน้าพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.1 และ ล.3ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายยังไม่ยุติจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธินั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยและนายวีระยุทธต่างขับรถยนต์โดยประมาทและจำเลยกับนายวีระยุทธถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำนวน 1,000 บาท และ 500 บาทตามลำดับและได้ความจากร้อยตำรวจโทอภิชาติ สุริบุญญา พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้เปรียบเทียบปรับจำเลยและนายวีระยุทธว่าเหตุที่ปรับจำเลยมากกว่านายวีระยุทธเนื่องมาจากนายวีระยุทธได้รับบาดเจ็บไม่ใช่เพราะจำเลยและนายวีระยุทธมีความประมาทแตกต่างกันส่วนค่าเสียหายนั้นจำเลยและนายวีระยุทธได้ตกลงกันต่างคนต่างซ่อมซึ่งนายวิชัยเห็นชอบด้วย ร้อยตำรวจโทอภิชาติจึงบันทึกข้อตกลงดังกล่าวและการเปรียบเทียบปรับไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบแจ้งชัดว่าจำเลยเป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อมากกว่านายวีระยุทธการที่ร้อยตำรวจโทอภิชาติเปรียบเทียบปรับทั้งจำเลยและนายวีระยุทธ และค่าเสียหายของรถยนต์ทั้งสองคันได้มีการตกลงกันให้ต่างคนต่างซ่อมตามเอกสารหมาย ล.1 โดยที่ขณะนั้นนายวิชัยเจ้าของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเกี่ยวกับรถยนต์ที่มีการชนกันไม่ได้คัดค้านแสดงว่าเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยและนายวีระยุทธไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงได้มีการตกลงกันดังกล่าวเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันโดยการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่จะพึงมีต่อกัน ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นผลให้มูลละเมิดซึ่งมีอยู่ระงับสิ้นไป และการที่นายวิชัยยินยอมให้นายวีระยุทธตกลงระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1 เท่ากับนายวิชัยแสดงออกหรือยอมให้นายวีระยุทธแสดงออกว่านายวีระยุทธเป็นตัวแทนของนายวิชัยในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว นายวิชัยจึงต้องผูกพันและรับเอาผลของการที่นายวีระยุทธทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1 กับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีเหตุควรเชื่อว่านายวีระยุทธเป็นตัวแทนของนายวิชัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 โจทก์จะอ้างว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ได้ และที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่มีการทำเอกสารหมาย ล.1 เป็นเรื่องพนักงานสอบสวนมุ่งเน้นการดำเนินคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับนั้น เห็นว่า แม้พนักงานสอบสวนจะทำบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 เพื่อเปรียบเทียบปรับจำเลยและนายวีระยุทธแต่เมื่อเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวมีข้อตกลงระหว่างคู่กรณีที่มุ่งจะระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ชอบด้วยกฎหมายส่วนที่มีการทำรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย ล.3ขึ้นอีกในภายหลังโดยนายวิชัยและจำเลยไปตกลงกันใหม่ในเรื่องค่าเสียหายของรถยนต์ที่เกิดเหตุชนกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าคู่กรณีขอไปทำความตกลงกันเองนั้น โจทก์ก็มิได้นำนายวิชัยมาสืบว่าเหตุใดจึงมีการทำความตกลงกันใหม่ตามเอกสารหมายล.3 ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยว่า เหตุที่มีการทำเอกสารหมาย ล.3 ขึ้นเนื่องมาจากนายวิชัยขอร้องจำเลยให้ทำบันทึกเพิ่มเติมเพื่อนายวิชัยจะได้ลงชื่อและนำไปเป็นหลักฐานแสดงต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์รับผิดตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น และได้ความจากจำเลยอีกว่าหลังจากทำเอกสารหมาย ล.3 แล้วนายวิชัยไม่เคยมาติดต่อกับจำเลยอีกเลยย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจำเลยและนายวิชัยไม่ได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามที่ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.3จึงไม่มีผลบังคับแก่จำเลยและนายวิชัยและไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมายล.1 ที่ทำไว้ก่อนแล้ว และเมื่อมูลละเมิดได้ระงับสิ้นไปเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วในฐานะผู้รับช่วงสิทธิได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share