คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2538

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสภาพของหลุมฝังศพที่มีศพฝังอยู่ย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูตผีวิญญาณและเป็นที่รังเกียจแก่ผู้ที่มิใช่ญาติผู้ตายซึ่งอยู่บ้านใกล้หลุมฝังศพฉะนั้นการที่จำเลยที่1ก่อสร้างหลุมฝังศพในที่ดินของตนเองและนำศพฝังไว้ห่างบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ10เมตรย่อมจะมากพอที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองจำต้องรับรู้ว่าตนอยู่ใกล้หลุมฝังศพและต้องได้รับความกดดันทางจิตใจจากการมีพิธีการเกี่ยวกับศพการที่จำเลยที่1ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายหลังจากฝังศพแล้วมีผลเพียงว่าจำเลยที่1มิได้ตกเป็นผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528อีกต่อไปเท่านั้นหาได้มีผลทำให้จำเลยที่1มีอำนาจกระทำการใดๆให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่การกระทำของจำเลยที่1ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1337จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528มาตรา10เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้มีการฝังศพตามที่มีผู้ขอมาหรือไม่ก็ได้ดังนั้นการที่จำเลยที่2และที่3ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้มีการฝังศพไว้ที่เดิมโดยไม่ต้องรื้อถอนหลุมฝังศพจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่10044พร้อมบ้านเลขที่12จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่27492และบ้านเลขที่66ซึ่งมีแนวเขตที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่2และที่3เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528ต่อมาจำเลยที่1ทำการก่อสร้างสุสานหรือหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยแบบธรรมเนียมชาวจีนในบริเวณที่ดินของจำเลยที่1ห่างจากบ้านของโจทก์ทั้งสองไม่เกิน10เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและนำศพสามีของจำเลยที่1มาฝังไว้ณหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยดังกล่าวตลอดมาโจทก์ทั้งสองจึงร้องเรียนไปยังจำเลยที่2และที่3ขอให้ยับยั้งไม่ให้จำเลยที่1ทำความผิดต่อพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528แต่จำเลยที่2และที่3เพิกเฉยต่อมาโจทก์ที่1มีหนังสือร้องเรียนร้องทุกข์กล่าวโทษต่อจำเลยที่2ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่1จำเลยที่2จึงเรียกจำเลยที่1มาลงโทษปรับซึ่งตามมาตรา10แห่งพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528กำหนดว่าเมื่อลงโทษปรับจำเลยที่1แล้วจำเลยที่2มีหน้าที่จักต้องสั่งให้จำเลยที่1รื้อถอนหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยและเคลื่อนย้ายศพที่ได้ฝังไปฝังหรือเก็บไว้ในสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานที่เอกชนได้รับอนุญาตตามกฎหมายในเวลาที่กำหนดหากจำเลยที่1ฝ่าฝืนก็ชอบที่จะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้ากระทำการแทนโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่1แต่จำเลยที่2หาได้สั่งให้จำเลยที่1ปฏิบัติเช่นนั้นไม่กลับนำเรื่องขออนุญาตฝังศพที่จำเลยที่1ยื่นขออนุญาตหลังจากถูกปรับแล้วขึ้นพิจารณาส่วนจำเลยที่3เมื่อได้รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองแล้วก็ไม่ดำเนินการตามหน้าที่การกระทำของจำเลยที่1เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองและบุตร2คนเกิดความกลัวนอนไม่หลับเสียสุขภาพจิตเป็นผลให้เสียหายต่อร่างกายและอนามัยส่วนจำเลยที่2และที่3เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติอันจะต้องกระทำตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องและเคลื่อนย้ายศพที่ฝังออกไปห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสามทำละเมิดเช่นนี้อีกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์จำนวน34,800บาทกับร่วมกันใช้ค่าเสียหายอัตราวันละ100บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่าการกระทำของจำเลยที่1เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยที่2และที่3เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายและใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่2และที่3ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่1รื้อหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยตามฟ้องและเคลื่อนย้ายศพที่ฝังออกไปจากสถานที่ดังกล่าวตามฟ้องนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่10044พร้อมบ้านเลขที่12หมู่ที่10ตำบล สุเทพอำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่จำเลยที่1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่27492หมู่เดียวกันซึ่งมีบ้านเลขที่66ปลูกสร้างอยู่โดยมีแนวเขตที่ดินติดต่อกันจำเลยที่2และที่3เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม2531จำเลยที่1ได้ทำการก่อสร้างหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยแบบธรรมเนียมชาวจีนในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่27492ของจำเลยที่1ต่อมาวันที่24พฤศจิกายน2531จำเลยที่1จึงได้นำศพนาย สมคิดนฤนาทดำรงค์ ผู้เป็นสามีฝังไว้ที่หลุมฝังศพดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายต่อมาโจทก์ที่1ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อจำเลยที่2ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่1จำเลยที่2จึงเรียกจำเลยที่1มาลงโทษปรับเป็นเงิน2,000บาทหลังจากนั้นจำเลยที่1ได้มีหนังสือขออนุญาตฝังศพนาย สมคิดต่อจำเลยที่2ไว้ที่เดิมจำเลยที่2จึงมีหนังสือหารือจำเลยที่3โดยมีความเห็นว่าควรอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพนาย สมคิดในบริเวณที่ดินของตนได้ตามหนังสือเรื่องขออนุญาตฝังศพไว้ในบริเวณบ้านเอกสารหมายล.16และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ก็มีหนังสือหารืออัยการจังหวัดเชียงใหม่ว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพนาย สมคิดไว้ในบริเวณบ้านของตนได้หรือไม่และจะต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและศพที่ฝังไว้ออกไปก่อนที่จะอนุญาตหรือไม่ตามหนังสือเรื่องราษฎรร้องเรียนการฝังศพโดยไม่ได้รับอนุญาตเอกสารหมายล.21อัยการจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือตอบว่ากรณีนี้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพได้ตามที่ขอโดยไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือเคลื่อนย้ายศพที่ฝังไว้ก็ได้ตามบันทึกข้อความเรื่องข้อหารือกรณีราษฎรร้องเรียนการฝังศพโดยมิได้รับอนุญาตเอกสารหมายล.22ต่อมาจำเลยที่3แจ้งจำเลยที่2ว่าได้ให้ความเห็นชอบในการที่จำเลยที่2จะอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพนาย สมคิดไว้ในบริเวณบ้านของตนได้ตามหนังสือเรื่องขออนุญาตฝังศพไว้ในบริเวณบ้านเอกสารหมายล.18จำเลยที่2จึงแจ้งจำเลยที่1ว่าจำเลยที่2ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่3อนุญาตให้ฝังศพนาย สมคิดในบริเวณบ้านในที่ดินของจำเลยที่1ได้ตามหนังสือขออนุญาตฝังศพไว้ในบริเวณบ้านเอกสารหมายล.2ปัจจุบันศพของนาย สมคิดยังคงฝังไว้ที่หลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยเดิม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1มีว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่สำหรับจำเลยที่1นั้นโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่าการกระทำของจำเลยที่1ทำให้บุตร2คนของโจทก์ทั้งสองกลัวผีตอนกลางคืนไม่สามารถทำกิจวัตรได้ตามลำพังเช่นทำการบ้านอ่านหนังสือดูโทรทัศน์ทั้งไม่ยอมนอนในห้องนอนของแต่ละคนโจทก์ทั้งสองจำต้องคอยดูแลและแยกไปนอนกับบุตรคนละห้องทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดความเครียดวิตกกังวลนอนไม่หลับเป็นเหตุให้โจทก์ที่1เป็นโรคกระเพาะและโจทก์ทั้งสองเป็นโรคภูมิแพ้ต้องไปหาแพทย์สัปดาห์ละครั้งทำให้ฐานะทางสังคมของโจทก์ที่1ตกต่ำเพราะตอนกลางคืนจะออกจากบ้านไปงานสังคมตามปกติไม่ได้นอกจากนี้ยังทำให้โจทก์ที่1อยู่ในภาวะบีบคั้นทางจิตใจเวลามีงานจุดธูปเผากระดาษเงินกระดาษทองโจทก์ที่1ต้องไปขออาศัยบ้านเพื่ออยู่ชั่วคราวเห็นว่าตามสภาพของหลุมฝังศพที่มีศพฝังอยู่ย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูติผีวิญญาณและเป็นที่รังเกียจแก่ผู้ที่มิใช่ญาติผู้ตายซึ่งอยู่บ้านใกล้หลุมฝังศพการที่โจทก์ทั้งสองรู้สึกหวาดกลัวเรื่องภูติผีวิญญาณและรังเกียจที่มีศพในหลุมฝังศพดังกล่าวจึงเป็นปกติธรรมดาที่คนทั่วไปจะรู้สึกซึ่งในข้อนี้โจทก์ก็มีนาง ดาราสุขสามัคคี เบิกความสนับสนุนว่าจำเลยที่1สร้างสุสานห่างจากรั้วบ้านพยานประมาณ6เมตรและห่างตัวบ้านพยานประมาณ60เมตรทำให้พยานและคนในครอบครัวกลัวผีเมื่อให้บุตรไปซื้อของในเวลากลางคืนก็ไม่กล้าไปกับมีพันจ่าอากาศเอก สงบมุกดาเนตรเบิกความสนับสนุนว่าบ้านที่พยานพักอาศัยอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ40เมตรชาวบ้านในหมู่บ้านของพยานมีประมาณ40-50หลังคาเรือนซึ่งคัดค้านไม่เห็นด้วยที่มีการนำศพไปฝังไว้ที่สุสานใกล้บ้านโจทก์ทั้งสองและทำให้บุตรของพยานไม่กล้าเดินผ่านถนนตอนพลบค่ำเพราะกลัวผีกับเบิกความตอบทนายจำเลยที่1ถามค้านว่าหลุมฝังศพที่จำเลยที่1สร้างไว้ดูแล้วรู้สึกวังเวงจุดที่หลุมฝังศพสร้างไว้นั้นโจทก์ที่1ก็เบิกความว่าห่างบ้านโจทก์ทั้งสองเพียงประมาณ10เมตรซึ่งนาย ทรงทรัพย์พิริยะกุลทร ปลัดอำเภอพยานจำเลยทั้งสามก็เบิกความว่าหลุมฝังศพนาย สมคิดอยู่ห่างบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ10เมตรเห็นได้ว่าหลุมฝังศพอยู่ใกล้บ้านของโจทก์ทั้งสองมากพอที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองจำต้องรับรู้ว่าตนอยู่ใกล้หลุมฝังศพและต้องได้รับความกดดันทางจิตใจจากการมีพิธีการเกี่ยวกับศพเช่นจุดธูปเผากระดาษเงินกระดาษทองและจุดประทัดดังโจทก์ที่1เบิกความนอกจากนี้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่1เป็นที่อยู่อาศัยไม่เคยมีหลุมฝังศพมาก่อนและไม่ปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงมีหลุมฝังศพแต่อย่างใดการฝังศพในที่ดินของจำเลยที่1จึงไม่น่าจะชอบด้วยประเพณีของท้องถิ่นในข้อนี้โจทก์ที่2เบิกความว่าราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านของโจทก์ทั้งสองต่างไม่เห็นด้วยที่จำเลยที่1นำศพของสามีมาฝังไว้โดยร่วมลงชื่อแสดงความเห็นมายังโจทก์ที่2ตามบัญชีรายชื่อราษฎรที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีฮวงซุ้ยฝังศพในบริเวณหมู่ที่10ตำบล สุเทพ เนื่องจากเป็นการขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพราะจะนำมาซึ่งสิ่งอันเป็นอัปมงคลเนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยตามเอกสารหมายจ.17จำเลยที่2ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านเจือสมกับโจทก์ที่2ว่าทราบว่าตามประเพณีท้องถิ่นของทางภาคเหนือไม่นิยมให้มีการฝังศพในเขตหมู่บ้านและนาย กิติพงษ์นกแก้ว กำนันตำบลท้องที่หลุมฝังศพตั้งอยู่พยานจำเลยทั้งสามก็เบิกความเจือสมกับโจทก์ที่2อีกด้วยว่าขณะมีการปลูกสร้างเก๋งจีนโจทก์ที่1ร้องเรียนว่าจะมีการฝังศพจึงมีการประชุมลูกบ้านประมาณ50กว่าคนโจทก์ที่1พูดขึ้นว่ามีการฝังศพที่เป็นการผิดประเพณีทางภาคเหนือมีผู้แสดงความคิดเห็นเพียงคนเดียวว่าตามประเพณีทางภาคเหนือจะมาฝังศพอย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้องที่จำเลยที่1ฎีกาว่าทางราชการได้อนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพไว้ที่เดิมจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้นข้อเท็จจริงก็ฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่1ได้ฝังศพนาย สมคิดไว้ก่อนจนถูกลงโทษปรับไปแล้วจึงได้ขออนุญาตฝังศพต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในภายหลังการได้รับอนุญาตเช่นนี้จึงมีผลเพียงว่าจำเลยที่1มิได้ตกเป็นผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528อีกต่อไปเท่านั้นหาได้มีผลทำให้จำเลยที่1มีอำนาจกระทำการใดๆให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ที่จำเลยที่1ฎีกาว่านาย กิตติพงษ์นกแก้ว ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ศพตั้งอยู่พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่าได้ดูหลุมฝังศพแล้วไม่น่ากลัวและชาวบ้านในละแวกเดียวกันไม่มีใครคัดค้านตามสำเนาบันทึกเอกสารหมายล.11นั้นตามเอกสารฉบับนี้ก็มีผู้ให้ถ้อยคำเพียงคนเดียวคือนาย ด้วงคำเมืองใจ ซึ่งให้ถ้อยคำว่าไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือรำคาญจากการที่มีหลุมฝังศพนาย สมคิด เช่นนี้ความรู้สึกของคนเพียง2คนที่ไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือได้รับความเดือดร้อนจากการมีหลุมฝังศพย่อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองหรือชาวบ้านคนอื่นๆจะไม่มีความรู้สึกหวาดกลัวหรือเดือดร้อนรำคาญเช่นเดียวกับตนที่จำเลยที่1ฎีกาว่าในการประชุมกรรมการหมู่บ้านท้องที่หลุมฝังศพนาย สมคิดตั้งอยู่เมื่อวันที่20กุมภาพันธ์2533ก็ไม่มีการคัดค้านให้มีการสร้างหลุมฝังศพนาย สมคิดตามสำเนาบันทึกเอกสารหมายล.8และการประชุมสภาตำบลท้องที่หลุมฝังศพนาย สมคิดตั้งอยู่เมื่อวันที่23กุมภาพันธ์2533ได้มีการลงมติไม่ขัดข้องที่จะอนุญาตให้มีการสร้างหลุมฝังศพดังกล่าวตามหนังสือของจำเลยที่2เรื่องราษฎรร้องเรียนการฝังศพโดยมิได้รับอนุญาตเอกสารหมายล.15นั้นข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีเพียงว่าสภาตำบล สุเทพไม่ขัดข้องหากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้สร้างหลุมฝังศพนาย สมคิด หาได้มีการกล่าวถึงว่าจะมีผู้ใดหวาดกลัวหรือเดือดร้อนรำคาญจากการมีหลุมฝังศพดังกล่าวหรือไม่แต่อย่างใดจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความหวาดกลัวหรือเดือดร้อนรำคาญจากการมีหลุมฝังศพดังกล่าวที่จำเลยที่1ฎีกาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องขมาและดินในการฝังศพนาย สมคิด ณหลุมฝังศพดังกล่าวตามสำเนาหมายรับสั่งเอกสารหมายล.7นั้นก็เป็นหมายรับสั่งเกี่ยวกับพิธีฝังศพนาย สมคิดตามที่จำเลยที่1นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานเครื่องขมาและดินในการฝังศพนาย สมคิด ไม่เกี่ยวกับการอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพนาย สมคิดที่จำเลยที่1ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่1ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันให้จำเลยที่1ก่อสร้างที่กำบังกั้นหลุมฝังศพเพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองมองเห็นจนกระทั่งจำเลยที่1ได้ดำเนินการก่อสร้างที่กำบังดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการทำหลักฐานการประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา851แต่อย่างใดจำเลยที่1จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองได้พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยที่1ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่1สร้างหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยลงในที่ดินของจำเลยที่1เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งที่ดินดังกล่าวมาคำนึงประกอบต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา1337แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การกระทำของจำเลยที่1จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองฎีกาของจำเลยที่1ฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยที่2และที่3นั้นโจทก์ทั้งสองฎีกาว่าตามมาตรา25แห่งพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528กำหนดว่าเมื่อจำเลยที่2เรียกจำเลยที่1มาปรับแล้วจำเลยที่2มีหน้าที่ต้องสั่งให้จำเลยที่1รื้อถอนหลุมฝังศพไปฝังไว้ตามสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายแต่จำเลยที่2กลับฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวโดยอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพไว้ในที่เดิมซึ่งหาทำให้การฝังศพที่ผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมายไม่ทั้งการกระทำดังกล่าวก็เป็นการที่จำเลยที่2และที่3ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528มาตรา25ดังกล่าวเพราะจะต้องสั่งให้จำเลยที่1รื้อถอนและเครื่องย้ายศพออกไปเท่านั้นจะอ้างว่าจำเลยที่3ได้ปรึกษาอัยการจังหวัดเชียงใหม่มาก่อนแล้วหาได้ไม่เห็นว่าตามมาตรา10แห่งพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดฝังศพไว้ในสถานที่อื่นนอกจากในสุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชนเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้มีการฝังศพตามที่มีผู้ขอมาหรือไม่ก็ได้หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องมีความผิดตามมาตรา10และมาตรา25วรรคแรกโดยมีมาตรา25วรรคสองบัญญัติไว้ด้วยว่า”ในกรณีฝ่าฝืนตามมาตรา10ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือเคลื่อนย้ายศพที่ฝังหรือเก็บไว้ไปฝังหรือเก็บในสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา6ภายในเวลาที่กำหนดถ้าผู้ฝ่าฝืนยังไม่ปฏิบัติตามให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้ากระทำการนั้นแทนโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ฝ่าฝืน”เห็นได้ว่าตามมาตรา10และมาตรา25แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา10รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือเคลื่อนย้ายศพที่ฝังไว้แต่อย่างใดคงให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนมาตรา10รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือเคลื่อนย้ายศพที่ฝังไว้ออกไปหรือไม่ก็ได้ซึ่งในข้อนี้หากจำเลยที่1ยังคงมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา10อีกต่อไปตามปกติจำเลยที่2และที่3ก็สมควรที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้รื้อถอนหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยออกไปแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากจำเลยที่1ถูกลงโทษฐานกระทำผิดตามมาตรา10ดังกล่าวแล้วจำเลยที่1ก็ขออนุญาตฝังศพนาย สมคิดไว้ที่เดิมต่อจำเลยที่2ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยที่1ไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนมาตรา10อีกต่อไปส่วนการที่จำเลยที่2และที่3ใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่1ฝังศพนาย สมคิดไว้ที่เดิมโดยไม่ต้องรื้อถอนหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยนั้นก็ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนเริ่มตั้งแต่สภาตำบลท้องที่หลุมฝังศพตั้งอยู่ประชุมกันเมื่อวันที่23กุมภาพันธ์2533มีมติไม่ขัดข้องในการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะอนุญาตให้ฝังศพดังกล่าวจากนั้นจำเลยที่2ก็มีหนังสือรายงานเรื่องนี้ต่อจำเลยที่3ไว้ชั้นหนึ่งก่อนตามหนังสือเรื่องราษฎรร้องเรียนการฝังศพโดยมิได้รับอนุญาตเอกสารหมายล.15แล้วต่อมาจำเลยที่2ก็มีหนังสือหารือจำเลยที่3ต่อไปอีกตามหนังสือเรื่องขออนุญาตฝังศพไว้ในบริเวณบ้านเอกสารหมายล.16และล.17พร้อมทั้งมีความเห็นของอัยการจังหวัดเชียงใหม่ว่ากรณีนี้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะพิจารณาอนุญาตให้ฝังศพตามมาตรา10โดยไม่ใช้อำนาจตามมาตรา25วรรคสองก็ได้ตามบันทึกข้อความเอกสารหมายล.22ซึ่งเห็นได้ว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่2และที่3ที่อนุญาตให้ฝังศพนาย สมคิดไว้ที่เดิมโดยไม่ใช้อำนาจสั่งให้จำเลยที่1รื้อถอนหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยออกไปนั้นได้อาศัยข้อมูลและความเห็นที่สอดคล้องต้องกันของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามสมควรแล้วการกระทำของจำเลยที่2และที่3จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถานพ.ศ.2528มาตรา10หรือมาตรา24แต่อย่างใดจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นอีกเช่น”
พิพากษายืน

Share