คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นอย่างเดียวกันคือจำเลยได้ร่วมกันผลิตและขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่ายเหล็กบังตาอันเป็นการทำเทียมหรือเลียนแบบละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์หรือไม่แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอเพิ่มเติมโดยเรียกค่าเสียหายมาด้วยแต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกันจำเลยผลิตและขายม่านเหล็กบังตาอันเป็นการประกอบธุรกิจในทางการค้าของจำเลยอยู่ก่อนเกิดเหตุและตลอดมาการที่จำเลยต้องหยุดการผลิตเพราะถูกโจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางอาญาและเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดเอาเครื่องจักรไปหลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักบานตำรวจเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดและคืนเครื่องจักรที่ยึดจำเลยก็ใช้เครื่องจักรผลิตม่านเหล็กบังตาปกติต่อมาดังนี้ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่องกันจะถือว่าขาดตอนแล้วและเริ่มการกระทำใหม่หาได้ไม่จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสอง(1)เมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนก็ย่อมมีผลถึงโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ให้ใช้สิทธิบัตรในการผลิตสินค้าด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยึดและพับได้ เลขที่ 261 ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2528 มีข้อถือสิทธิ คือ แบบม้วนของใบม่านเหล็กบังตาตามความยาวด้านข้างทั้งสองข้างเป็นรูปก้นหอยซึ่งมีทิศทางการม้วนที่ต่างกัน และขอบด้านหนึ่งจะหักเป็นมุม แผ่นใบม่านนี้จะสอดสวมเข้าด้วยกันในลักษณะสามารถยึดออกและพับได้ จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 เมื่อระหว่างวันที่10 กรกฎาคม 2528 ถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งหดได้ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ และร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ อันเป็นการลอกหรือเลียนแบบการประดิษฐ์ของโจทก์เป็นการละเมิดขอถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายเดือนละไม่น้อยกว่า300,000 บาท เพราะจำหน่ายน้อยลง ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกจะยุติการผลิตผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ รวมทั้งให้หยุดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาตามข้อถือสิทธิแห่งสิทธิบัตรของโจทก์
จำเลยทั้งหกให้การว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 2 และที่ 6 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นห้างหุ้นส่วนจำกัดเลี่ยงเซ้งโลหะกิจซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ให้ใช้สิทธิบัตรของโจทก์ผลิตสินค้ายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2529 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 เมื่อระหว่างวันที่10 กรกฎาคม 2528 ถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันผลิตม่านเหล็กบังตาหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์เลขที่ 261 และร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิของโจทก์ดังกล่าวอันเป็นการลอกหรือเลียนแบบการประดิษฐ์ของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายขอเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะยุติการทำละเมิดต่อโจทก์ รวมทั้งให้หยุดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาตามข้อถือสิทธิแห่งสิทธิบัตรของโจทก์ ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6ตามคดีหลายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่ง ว่าจำเลยที่ 1และที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 5 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาอันเป็นการทำเทียมและเลียนแบบตามสิทธิบัตรของโจทก์ เลขที่ 261 ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยยุติการผลิตและขายแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ยังคงร่วมกันผลิต ขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาดังกล่าวอยู่ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสี่ทำเทียมหรือเลียนแบบผลิตภัณฑ์หรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ รวมทั้งห้ามจำเลยทั้งสี่ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาตามสิทธิแห่งสิทธิบัตรของโจทก์โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา
คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกว่ากระทำละเมิดเมื่อระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม2528 เป็นต้นมา อันเป็นการกระทำคนละตอนกับการกระทำละเมิดในคดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่ง ซึ่งยุติขาดตอนแล้วในวันที่ 11 มิถุนายน 2528 ที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยและจำเลยหยุดผลิตสินค้าละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะหยุดการผลิตโดยเต็มใจหรือไม่ โจทก์จะมีส่วนร่วมที่ทำให้จำเลยหยุดการผลิตหรือไม่ ก็ถือว่าขาดตอนแล้ว ต่อมาการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อนเห็นว่า คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่ง มีประเด็นอย่างเดียวกันคือ จำเลยได้ร่วมกันผลิตและขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาอันเป็นการทำเทียมหรือเลียนแบบละเมิดสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์หรือไม่ แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอเพิ่มเติมโดยเรียกค่าเสียหายมาด้วย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกัน มีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง จำเลยผลิตและขายม่ายเหล็กบังตาอันเป็นการประกอบธุรกิจในทางการค้าของจำเลยอยู่ก่อนเกิดเหตุและตลอดมา การที่จำเลยต้องหยุดการผลิตเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2528 เพราะถูกโจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางอาญา และเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดเอาเครื่องจักรไป หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดและคืนเครื่องจักรที่ยึดจำเลยก็ใช้เครื่องจักรผลิตม่านเหล็กบังตาตามปกติต่อมาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ดังนี้ ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน จะถือว่าขาดตอนแล้วและเริ่มการกระทำใหม่ตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมหาได้ไม่ที่โจทก์และโจทก์ร่วมยกตัวอย่างเปรียบเทียบมาในฎีกานั้น เห็นว่าการวินิจฉัยคดีย่อมต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไปจะนำข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งมาเปรียบเทียบกับอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน โดยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาฟ้องโจทก์คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนก็ย่อมมีผลถึงโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ให้ใช้สิทธิบัตรในการผลิตสินค้าด้วยสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น แม้โจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีหมายเลขดำที่ 13943/2528 ของศาลแพ่งด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเพิ่งจะมาฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในคดีนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะกรณีจะเป็นฟ้องซ้อน นอกจากคดีจะต้องมีประเด็นอย่างเดียวกันแล้วจำเลยยังจะต้องเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีก่อนด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
เมื่อฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6เป็นฟ้องซ้อนดังได้วินิจฉัยมา คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ต่อไปส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เมื่อฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3และที่ 4 ไม่เป็นฟ้องซ้อน และโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นกระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด ก็หาใช่ว่าจะไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ เพราะหากรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีจึงมีปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์เสียหายเพียงใด แต่เห็นว่าปัญหาหรือประเด็นดังกล่าวศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาในประเด็นข้อ 3 และ ข้อ 4 ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อไป

Share