คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยต่อมาจำเลยได้โอนขายให้แก่ส. น้องสาวจำเลยหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทจากจำเลยเป็นของส. แล้วส.ได้แสดงความเป็นเจ้าของโดยจำนองทรัพย์พิพาทต่อธนาคารและเพิ่มเงินจำนองอีกหลายครั้งในที่สุดส. ถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองทรัพย์พิพาทและธนาคารเจ้าหนี้ขอให้บังคับคดียึดทรัพย์พิพาทมีการขายทอดตลาดถึง10ครั้งแต่ขายไม่ได้ส. จึงขายทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ในราคา3,950,000บาทได้มีการถอนการยึดและชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าด้านการแสดงออกหรือคัดค้านแต่อย่างใดพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์รับซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตแม้จำเลยกับส. แสดงเจตนาลวงด้วยการสมรู้กันว่ามิได้มีเจตนาซื้อขายทรัพย์พิพาทกันก็ตามแต่เมื่อโจทก์รับซื้อมาโดยสุจริตก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา118วรรคแรก(เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินตราจองเลขที่ 111พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์ออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยได้รับโอนมาจากนางสาววิไลวรรณพี่จำเลย เมื่อประมาณต้นปี 2526 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินจำเลยทำธุรกิจค้าขายขาดทุน จำเลยเกรงว่าจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องและบังคับคดีเอาทรัพย์สินต่าง ๆ ของจำเลย จึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ฟ้องให้เป็นชื่อของนางสรัญญาโดยจำเลยกับนางสรัญญาได้แสดงเจตนาลวงสมรู้กันว่า ถ้าสถานการณ์เป็นปกติแล้วนางสรัญญาจะโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนจำเลย การแสดงเจตนาของจำเลยกับนางสรัญญาจึงตกเป็นโมฆะจำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอยู่ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางสรัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนางสรัญญาได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย และโจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของจำเลยอยู่ การกระทำของนางสรัญญากับโจทก์จึงเป็นการฉ้อฉล จำเลยตกเป็นโมฆียะกรรมจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมนี้แก่โจทก์และนางสรัญญาแล้วขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางมณีรัตน์ อรวิวัฒนากูรผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามตราจองเลขที่ 111 และให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยฎีกามีว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทหรือไม่ มีข้อจะต้องพิจารณาว่าโจทก์ซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทจากจำเลยมาเป็นของนางสรัญญาแล้ว นางสรัญญาแสดงความเป็นเจ้าของหลายประการโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2526 จนถึง 31 มกราคม 2528นางสรัญญาได้จำนองทรัพย์พิพาทต่อธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาแม่ฮ่องสอน ต่อมาได้มีการขึ้นเงินจำนองอีกหลายครั้งในที่สุดนางสรัญญาถูกธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนองทรัพย์พิพาท นางสรัญญาแพ้คดีและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ได้ ธนาคารเจ้าหนี้จึงขอให้บังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเพื่อนำขายทอดตลาด มีการขายทอดตลาดถึง 10 ครั้งแต่ก็ขายไม่ได้ นางสรัญญาจึงนำไปขายให้แก่โจทก์ในราคา3,950,000 บาท ได้มีการถอนการยึดและชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าด้านการแสดงออกหรือคัดค้านแต่อย่างใด คงปล่อยให้นางสรัญญาแสดงความเป็นเจ้าของตลอดมา ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์รับซื้อทรัพย์พิพาทไว้โดยสุจริต ดังนี้ แม้จำเลยกับนางสรัญญาจะแสดงเจตนาลวงด้วยการสมรู้กันว่ามิได้มีเจตนาซื้อขายทรัพย์พิพาทกันก็ตาม แต่เมื่อโจทก์รับซื้อมาโดยสุจริตก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก (เดิม) ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share