คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2400/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1 – 2 เมตรกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ราวนมซ้ายบาดแผลขนาด 1 X 1 เซนติเมตร รอบ ๆ บาดแผลมีรอยถลอกเล็ก ๆ หลายแผล รักษาหายภายใน 14 วัน ผลการเอกซเรย์ไม่พบโลหะในร่างกายของผู้เสียหาย แพทย์ผู้ทำการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายสันนิษฐานว่ากระสุนปืนทำขึ้นเอง ความเร็วต่ำ ไม่อาจทำอันตรายถึงแก่ความตายได้ทั้งไม่ได้ความว่าถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่อาจทำให้ผู้เสียหายถึงตายได้ ถือว่าการกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะปัจจัยที่ใช้ในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจมีอาวุธปืนสั้นชนิดทำในประเทศไทยไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตและมีกระสุนปืนเล็กยาวแบบ ๘๘ ขนาด ๗.๖๒ มม.๑ นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายและบังอาจพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและจำเลยใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวยิงนายมงคล คำเจริญ ผู้เสียหาย ๑ นัด โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนถูกผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายเพราะแพทย์ได้รักษาทันท่วงที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่าพยายามฆ่าผู้เสียหายจริงแต่ปฏิเสธว่ามิได้กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนข้อหาอื่นให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๐, ๙๑, ๒๘๘, ๒๘๙, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒ ทวิ, ๗๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๖, ๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตให้จำคุก ๑ ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองให้จำคุก ๒ ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะให้จำคุก ๖ เดือนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งสำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ และหนึ่งในสามสำหรับความผิดต่อชีวิตและพยายาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๓ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตให้จำคุก ๖ เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองให้จำคุก ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะ ให้จำคุก ๓ เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้จำคุก ๓๓ ปี ๔ เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลย ๓๕ ปี ๑ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๘๑ ประกอบมาตรา ๕๒ (๒) จำคุก ๑๕ ปีคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๑๐ ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วยแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑๑ ปี ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตาย เป็นการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ หรือ ๘๑ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยิงผู้เสียหายในระยะห่าง ๑ – ๒ เมตร (ตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนายจรัส แสนอนันต์ พยานโจทก์) กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ราวนมซ้าย บาดแผลขนาด ๑ X ๑ เซนติเมตร รอบ ๆ บาดแผลมีรอยถลอกเล็ก ๆ หลายแผล รักษาหายภายใน ๑๔ วัน ปรากฏตามรายงานการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องนายแพทย์สุพัตร นาโค ผู้ทำการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายเบิกความว่าเอกซเรย์ไม่พบโลหะในร่างกายของผู้เสียหาย สันนิษฐานว่ากระสุนปืนทำขึ้นเองความเร็วต่ำ ไม่อาจทำอันตรายถึงแก่ความตายได้ และไม่ได้ความว่าถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่อาจทำให้ผู้เสียหายถึงตายได้ ดังนี้ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะปัจจัยที่ใช้ในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑
พิพากษายืน.

Share