คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าบ้านจากจำเลยมีกำหนด 3 ปี สัญญาเช่าข้อ3 มีข้อความว่า’ผู้เช่า(โจทก์)ได้ชำระเงินค่ามัดจำก่อนทำสัญญาเป็นจำนวน 9,000 บาท ให้ผู้ให้เช่ายึดถือไว้และผู้ให้เช่าจะคืนเงินมัดจำครบตามจำนวนให้แก่ผู้ให้เช่าในเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงฯลฯ’ ดังนี้ เห็นได้ว่า จำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ต่อเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง คือเมื่อโจทก์เช่าบ้านจำเลยครบกำหนด 3 ปี แต่โจทก์เช่าบ้านจำเลยได้เพียง 3 เดือน ก็มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยโดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์(สมาคม)ได้ขออนุญาตต่อทางราชการตำรวจหลายวันแล้วแต่มิได้รับอนุญาตให้สมาคมย้ายไปอยู่ที่บ้านจำเลยได้ขอเลิกสัญญาเช่าซึ่งข้ออ้างดังกล่าวโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาโจทก์จะสืบเพิ่มเติมสัญญาเช่าไม่ได้ การที่โจทก์เลิกสัญญาก่อนครบกำหนด จึงเป็นความผิดของโจทก์ และเป็นการผิดสัญญาเช่าข้อ 3 จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เพราะเป็นเงินมัดจำในการที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าสิทธิของจำเลยที่จะริบเงินมัดจำของโจทก์ เกิดจากการที่โจทก์เลิกสัญญาโดยความผิดของโจทก์ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยริบได้ไว้แล้วโจทก์จำเลยไม่จำต้องตกลงในเรื่องริบนี้อีก ตามสัญญาข้อ 3 ถือว่า โจทก์จำเลยตกลงกันแล้วว่าจำเลยจะคืนเงินมัดจำให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาเมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน ให้โจทก์เช่าบ้านเลขที่ 410 ได้ทำสัญญาเช่าต่อกัน โดยโจทก์วางมัดจำให้จำเลยก่อนทำสัญญา 9,000 บาท หลังทำสัญญาแล้วเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ย้ายที่ตั้งที่ทำการสมาคม โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืนจำเลยบิดพลิ้ว ขอให้บังคับให้จำเลยใช้เงิน 9,000 บาท และดอกเบี้ย ฯลฯ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยมีสิทธิริบมัดจำ จำเลยมิได้ตกลงกับโจทก์ว่า ให้เช่าเพื่อตั้งเป็นที่ทำการใหม่ ในเมื่อได้รับอนุญาตจากทางการให้ย้ายจากที่เก่าได้และเป็นข้อความนอกเหนือในสัญญาเช่าโจทก์จะนำสืบแก้ไขไม่ได้ ฯลฯ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นสามีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผู้เดียวเป็นคู่สัญญาโจทก์

ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำพร้อมด้วยดอกเบี้ย ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

สำหรับข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องและคำให้การว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดเวลา 3 ปี กับจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2507 เป็นต้นไป โจทก์ได้วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยไว้ 9,000 บาท แต่เมื่อโจทก์เช่าบ้านได้เพียง 3 เดือน โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 ธันวาคม 2507 บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยประเด็นที่ว่าจำเลยจะมีสิทธิริบเงินมัดจำได้หรือไม่นั้น สัญญาเช่าข้อ 3 ซึ่งมีข้อความว่า “ผู้เช่าได้ชำระเงินค่ามัดจำก่อนทำสัญญาเช่าฉบับนี้เป็นจำนวน 9,000 บาท ให้ผู้ให้เช่ายึดถือไว้ และผู้ให้เช่าจะคืนเงินมัดจำครบตามจำนวนให้แก่ผู้เช่าในเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง” ตามสัญญาเช่าข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจะต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ต่อเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง คือ เมื่อโจทก์เช่าบ้านครบกำหนดเวลา 3 ปี โดยอ้างเหตุผลว่า สมาคมได้ขออนุญาตต่อทางราชการตำรวจหลายวันแล้ว แต่มิได้รับอนุญาตให้สมาคมย้ายไปอยู่ที่บ้านท่านได้สมาคมจะย้ายไปโดยพลการไม่ได้จึงขอเลิกสัญญาเช่าข้ออ้างดังกล่าวนั้นโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเช่า โจทก์จะนำสืบเพิ่มเติมสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ได้ ข้อตกลงในสัญญาเช่ามีเพียงว่าโจทก์เช่าบ้านจำเลยเพื่อใช้เป็นสำนักงานของสมาคมสงเคราะห์ชาวนาแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการกรมตำรวจให้ย้ายก่อน การที่โจทก์เลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาจึงเป็นความผิดของโจทก์ และเป็นการผิดสัญญาเช่าข้อ 3 ดังกล่าวจำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เพราะเป็นเงินมัดจำในการที่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า สิทธิของจำเลยที่จะริบเงินมัดจำของโจทก์เกิดจากการที่โจทก์เลิกสัญญาโดยความผิดของโจทก์ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยริบได้ไว้แล้ว โจทก์จำเลยไม่จำต้องตกลงในเรื่องริบนี้อีกเว้นไว้แต่ถ้าโจทก์จำเลยจะตกลงยกเว้นจะไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติในเรื่องริบไว้ จึงจะต้องตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งอาจจะตกลงกันได้ ตามสัญญาข้อ 3 ถือว่าโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วว่า จำเลยจะคืนเงินมัดจำให้โจทก์ต่อเมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิ์ริบเงินมัดจำได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share