แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยนายจ้างได้ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทราบล่วงหน้าซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่ได้หยุดงานในวันดังกล่าวส่วนวันหยุดประจำสัปดาห์จำเลยมิได้ปฏิเสธไว้ต้องถือว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์โจทก์จึงมิต้องนำสืบในข้อนี้อีกจำเลยจึงต้องจ่ายเงินสำหรับวันหยุดทั้ง3ประเภทดังกล่าวแก่โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานหมวด4ข้อ31วรรคแรกถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างระหว่างผิดนัดร้อยละ15ต่อปีแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ลูกจ้างต้องทวงถามเสียก่อนจึงจะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยซึ่งมีความหมายว่านายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยทันทีที่ผิดนัดก็ตามแต่เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยผิดนัดในเรื่องดอกเบี้ยของแต่ละรายการตั้งแต่เมื่อใดและอย่างไรทั้งยังเบิกความว่าขอเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งนักจัดรายการเพลง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ จำเลยไม่เคยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีและหยุดงานในวันหยุดตามประเพณี ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า รวมเป็นเงิน 47,331 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2533จนถึงวันฟ้อง ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญากับเงินโบนัส รวมเป็นเงิน 49,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2533 จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 108,454.42 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงิน 47,331 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 49,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้นโจทก์ได้รับและใช้สิทธิแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2531โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2531โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาฝึกงานต่อกันตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 จำเลยมีหนังสือสั่งพักการจัดรายการของโจทก์ และวินิจฉัยประเด็นข้อแรกว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมไปทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2533เพราะไม่พอใจคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์พักการจัดรายการ คำสั่งพักจัดรายการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่จำเลยอาจออกคำสั่งได้ไม่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ประเด็นข้อ 2, 3, 4 และ 5 ที่ว่า หากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์จงใจให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนประเด็นข้อ 6 คงเหลือแต่เพียงว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดประจำสัปดาห์ เงินโบนัสดอกเบี้ย หรือไม่ โจทก์ทำงานให้จำเลยไม่ครบ 1 ปี จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำ ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้น ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์จำเลยว่า จำเลยได้ประกาศกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงาน 2 ปี มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีรวม 26 วัน กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 12 วันโจทก์จำเลยตกลงให้คิดวันละ 370 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทำงานวันหยุดตามประเพณีเป็นเงิน 9,620 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 4,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่โจทก์ทวงถามแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามวันใด จึงให้คิดนับแต่วันฟ้อง ส่วนค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยช่วงวันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2533 จำเลยไม่ได้ปฏิเสธไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่า จำเลยได้สั่งให้โจทก์ทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ปรากฏว่าวันหยุดประจำสัปดาห์ช่วงนั้นมีจำนวน 16 วัน โจทก์จำเลยตกลงให้คิดวันละ 370 บาท จึงเป็นเงิน 5,920 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่โจทก์ทวงถามไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามวันใด จึงให้นับแต่วันฟ้อง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 9,620 บาท ค่าทำงานวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,440 บาท กับค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ 5,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีกับค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์จำเลยว่า จำเลยได้ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทราบล่วงหน้า ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่า โจทก์ไม่ได้หยุดงานในวันดังกล่าว ส่วนวันหยุดประจำสัปดาห์นั้นศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ปฏิเสธไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์โจทก์จึงมิต้องนำสืบในข้อนี้อีก จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสำหรับวันหยุดทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวแก่โจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาในเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีโดยโจทก์ไม่จำต้องทวงถามก่อนนั้น และขอคิดนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไป เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หมวด 4 ข้อ 31 วรรคแรก ระบุว่า”ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี” ฉะนั้น ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนจะให้คิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากวันใดนั้น เห็นว่า แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ลูกจ้าง (โจทก์) ต้องทวงถามเสียก่อนจึงจะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยซึ่งมีความหมายว่า นายจ้าง (จำเลย) จะต้องจ่ายดอกเบี้ยทันทีที่ผิดนัดก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยผิดนัดในเรื่องดอกเบี้ยของแต่ละรายการตั้งแต่เมื่อใดและอย่างไร ทั้งยังเบิกความว่าขอเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีกับวันหยุดประจำสัปดาห์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง