แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีสรรพาสามิตพ.ศ.2527มาตรา100บัญญัติว่า”สินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรให้ได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีหรือลดอัตราภาษีตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”ซึ่งก็คือกฎกระทรวงฉบับที9(พ.ศ.2527)และฉบับที่17(พ.ศ.2529)ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายเช่นกันดังนั้นการที่โจทก์จะได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีหรือลดอัตราภาษีนั้นโจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวโจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่รู้หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงไม่ได้การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามกฎกระทรวงย่อมมีผลให้โจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีและจะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่ใช้บังคับในขณะที่นำสินค้าออกจากโรงงานตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวอีกด้วย หลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่13(พ.ศ.2527)ซึ่งมีข้อความระบุว่าให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบอุตสากรรมไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดีเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าที่ถูกประเมินภาษีเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งตามปกติได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามกฎกระทรวงเพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีจนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเช่นนี้ย่อมแสดงอยู่ในตัวเองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีประกอบกับในทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ขัดขวางการตรวจสอบภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ประการใดพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดีกรณีจึงมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า สรรพสามิตจังหวัดระยองพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม คำขอส่วนอื่นให้ยกเสีย
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเนื้อและน้ำสับปะรดกระป๋องออกจำหน่าย ทั้งในและนอกราชอาณาจักรโดยได้จดทะเบียนสรรพาสามิตไว้ตั้งแต่ปี 2528 เมื่อปี 2533 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่า โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตในปี 2529 และปี 2530ไม่ถูกต้องและได้ทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มรวมเป็นเงิน1,864,540.80 บาท โจทก์ได้คัดค้านการประเมินเมื่อคำคัดค้านถูกยกโจทก์ก็อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรตามสำเนาใบขนที่กรมศุลกากรได้รับรองแล้ว คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้งดหรือไม่สำหรับปัญหาว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ความข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าที่ถูกประเมินภาษีในส่วนนี้เป็นสินค้าที่โจทก์ส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 100 บัญญัติว่า “สินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรให้ได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีหรือลดอัตราภาษีตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งกฎกระทรวงตามความในกฎหมายดังกล่าวก็คือกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2527) และฉบับที่ 17(พ.ศ. 2529) ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีหรือลดอัตราภาษีนั้น โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า โจทก์ไม่รู้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงย่อมฟังไม่ขึ้น การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงย่อมมีผลให้โจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีและจะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่ใช้บังคับในขณะที่นำสินค้าออกจากโรงงานตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวอีกด้วย ส่วนปัญหาว่ามีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้งดหรือไม่นั้น ความข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎกระทรวงอันเป็นเหตุให้โจทก์มิได้รับการยกเว้นภาษี โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย เห็นว่าหลักเกณฑ์ในการงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย่อมจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 13(พ.ศ. 2527) ซึ่งมีข้อความระบุว่า ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าที่ถูกประเมินภาษีเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งตามปกติได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามกฎกระทรวงเพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีจนเป็นเหตุให้ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเช่นนี้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวเองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีประกอบกับในทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ขัดขวางการตรวจสอบภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ประการใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดีกรณีจึงมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
พิพากษายืน