แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเหตุเกิดเมื่อวันที่15มีนาคม2518เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้เมื่อวันที่6มีนาคม2538และส่งมอบจำเลยให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อมาวันที่10มีนาคม2538ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนมีกำหนด7วันตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอจึงถือได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลหรือได้ตัวจำเลยมายังศาลแล้วฉะนั้นเมื่อต่อมาวันที่13มีนาคม2538ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนตามคำร้องของจำเลยและโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในวันเดียวกันนั้นซึ่งยังไม่พ้นกำหนดยี่สิบปีนับแต่วันที่15มีนาคม2518จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา95(1)แล้วฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2518 เวลากลางคืนหลังเที่ยงติดต่อกันถึงวันที่ 16 มีนาคม 2518 เวลากลางวัน จำเลยใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย เตะ และใช้ของแข็งมีคมเป็นอาวุธ ตี ฟันแทง ประทุษร้าย นางวัชรี เรือนแก้ว หลายครั้ง ถูกที่บริเวณร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้นางวัชรีได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย แล้วจำเลยจับนางวัชรีกดลงน้ำในท้องร่องสวนโดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นางวัชรีถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 18 ปี
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่านางวัชรี เรือนแก้ว ผู้ตายเป็นบุตรของนางชิด เรือนแก้ว ขณะเกิดเหตุ ผู้ตายพักอาศัยอยู่กับนางชิดโดยมีนางวรรณา เรือนแก้วพี่สาวผู้ตายและนายนพ เอี่ยมอ่อง สามีนางวรรณาพักอาศัยอยู่ด้วยตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายถูกคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายและจับกดน้ำในท้องร่องสวนถึงแก่ความตายโดยมีบาดแผลตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและรายงานการตรวจศพท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในปัญหานี้ โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2518 เวลากลางคืนหลังเที่ยวติดต่อกันถึงวันที่16 มีนาคม 2518 เวลากลางวันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกระทำความผิดข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจออกหมายจับจำเลยในข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2518 ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2538เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ตามหมายจับดังกล่าวที่จังหวัดสงขลาและนำจำเลยมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหลักสองดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาดังกล่าว วันที่ 10 มีนาคม 2538พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอฝากขังจำเลยในระหว่างสอบสวนมีกำหนด 12 วันศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2538จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนศาลชั้นต้นอนุญาตและออกหมายปล่อยจำเลย แล้วโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในวันเดียวกันนั้นเอง เห็นว่า ข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบป้าปีถึงยี่สิบปีนั้นมีกำหนดอายุความฟ้องร้องยี่สิบปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(1) ที่บัญญัติว่า”ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ (1)ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี” ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2518เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2538 และส่งมอบจำเลยให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2538ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนมีกำหนด 7 วันตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอ จึงถือได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลหรือได้ตัวจำเลยมายังศาลแล้ว ฉะนั้น เมื่อต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2538 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนตามคำร้องของจำเลย และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในวันเดียวกันนั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดยี่สิบปีนับแต่วันที่15 มีนาคม 2518 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดยี่สิบปี นับแต่วันกระทำความผิดแล้วฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน