แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมมรดกย่อมตกทอดมาเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นทายาททันทีโจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทการที่จำเลยที่1โอนทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่2ซึ่งไม่ใช่ทายาทถือได้ว่าจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเป็นการเกินขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโจทก์ในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้เพราะเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความกรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา164เดิมคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินพิพาททั้งแปลงระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางพี สุกเขียวหรือสุขเขียว ผู้ตาย เป็นบุตรของนายหะยีสุขกับนางชื่น สุขเขียว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือนางฟอ สุขเขียว โจทก์ และนายมะซงหรือซาดสุขเขียว จำเลยที่ 1 เป็นสามีของผู้ตาย ผู้ตายกับจำเลยที่ 1ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อนางชุ่มภริยานายกอเดด มูฮำหมัด ซึ่งเป็นน้องจำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไปแจ้งเกิดว่าจำเลยที่ 2เป็นบุตรของตนกับผู้ตาย วันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 ผู้ตายถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจำเลยที่ 1 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายและไม่มีสิทธิรับมรดก แต่กลับโอนมรดกของผู้ตายที่แขวงบางชันเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร รวม 3 โฉนด คือที่ดินโฉนดเลขที่9748, 1798 และ 19772 รวมราคาประมาณ 3,062,156 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการจัดการมรดกโดยมิชอบเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกของผู้ตายตามโฉนดเลขที่ 9748เป็นเนื้อที่ 26.16 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 1798 เป็นเนื้อที่5 ไร่ และตามโฉนดเลขที่ 19772 เป็นเนื้อที่ 66.66 ตารางวารวมราคาทั้งสิ้นประมาณ 1,352,945 บาท ขอให้พิพากษาว่า จำเลยที่ 2มิใช่บุตรของผู้ตาย ห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของผู้ตายต่อไป กับให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 โอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ตามส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,352,945 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถอดถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 แต่เป็นบุตรของนายกอเดดกับนางชุ่ม จำเลยที่ 1 โอนมรดกที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 เพราะเข้าใจว่าจำเลยที่ 2มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นทายาทลำดับถัดจากจำเลยที่ 2ไม่มีสิทธิรับมรดก จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จแล้วการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายให้เพิกถอนการโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9748, 19772 และ 1798แขวงบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9748 ให้โจทก์ 26.16 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 19772 ให้โจทก์ 66.66 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่1798 ให้โอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์จำนวน 5 ไร่ จำเลยที่ 2 จำนวน2 ไร่ ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 โอนให้แก่ทายาทและผู้มีสิทธิตามส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 1,352,945 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางพี สุกเขียวหรือสุขเขียว ถึงแก่กรรม วันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ล.6 โจทก์เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นสามีผู้ตายและเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อวันที่1 พฤษภาคม 2529 เจ้าของรวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1798 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้เจ้าของรวมได้รับส่วนแบ่งดังนี้จำเลยที่ 1 นางฟอ โจทก์ และนายมะซง ได้รับคนละ 5 ไร่จำเลยที่ 2 ได้รับ 2 ไร่ นายชาญณรงค์ได้ 3 ไร่ 50 ตารางวาและวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เนื่องจากจำเลยที่ 2มิใช่บุตรผู้ตาย สิทธิของโจทก์เริ่มเมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มิใช่บุตรของผู้ตายภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 อันเป็นที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรม มรดกย่อมตกทอดมาเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นทายาททันทีโจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ทายาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเป็นการเกินขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโจทก์ในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ เพราะเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
พิพากษายืน