คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8138/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้จำเลยที่2จะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถซึ่งจำเลยที่2ขับชนกับรถซึ่งผู้ตายขับทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแต่ปรากฏตามคำฟ้องว่าผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วยและข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นเพราะผู้ตายกลับรถกลางถนนในเขตชุมนุมชนผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มากกรณีมีเหตุอันควรปรานีรอการลงโทษให้จำเลยที่2ดังนี้ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยว่าผู้ตายกระทำโดยประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่2ศาลฎีกาเพียงแต่ให้เหตุผลว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มากควรรอการลงโทษให้จำเลยที่2เท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ทั้งสี่ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 ตามลำดับ เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน4 ก-2345 กรุงเทพมหานคร ราคา 400,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032นครปฐม รับส่งผู้โดยสารระหว่างท่าช้าง (สุพรรณบุรี)-กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารสาธารณะของจำเลยที่ 1โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาของนายสุวิสิทธิ์ กัญญามานนท์ แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือโจทก์ที่ 3 อายุ 14 ปีซึ่งนายสุวิสิทธิ์จดทะเบียนรับรองเป็นบุตรแล้วตามสำเนาทะเบียนรับรองบุตรท้ายฟ้องสำนวนหลัง โจทก์ที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2527เวลากลางวัน นายสุวิสิทธิ์ยืมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวไปใช้ทำธุรกิจที่จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 1 เมษายน 2527 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา นายสุวิสิทธิ์ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันดังกล่าวนำภัตตาหารไปถวายสังฆทานที่วัดตีนเป็ด ตำบลสวนแตงอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยที่ 2 ในขณะกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032 นครปฐม รับผู้โดยสารในเขตสัมปทานของจำเลยที่ 1 ไปตามถนนมาลัยแมน จากอำเภอเมืองสุพรรณบุรีมุ่งหน้าไปทางอำเภออู่ทองโดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในบริเวณอันที่เป็นชุมนุมชนซึ่งเป็นที่คับขันและขับแซงรถยนต์โดยสารสาธารณะอีกคันหนึ่งที่กำลังจอดรับส่งผู้โดยสารอยู่ข้างทางข้างหน้าอันเป็นบริเวณที่คับขันด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ได้ให้สัญญาณแตรและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือนร้อนของผู้อื่น เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายสุวิสิทธิ์จอดรออยู่ข้างทางข้างหน้าเป็นเหตุให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ฟังเสียหายจนไม่สามารถจะนำมาประกอบหรือซ่อมให้คงสภาพเป็นรถยนต์ใช้ขับได้ นายสุวิสิทธิ์ถึงแก่ความตายทันที และโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 ผู้นั่งมาในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 หลบหนีไป การกระทำของจำเลยที่ 2ดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าให้ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้า และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 2กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้รถดังกล่าว จึงต้องจ้างรถแท็กซี่เพื่อประกอบธุรกิจวันละ 100 บาท นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 36,200 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 436,200 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 2,515 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 3,506 บาท การเสียชีวิตของนายสุวิสิทธิ์บิดาของโจทก์ที่ 3 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 3ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู โจทก์ที่ 3 คิดค่าขาดไร้อุปการะทั้งสิ้นเป็นเงิน 282,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนายสุวิสิทธิ์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 27,200 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 ทั้งสิ้นเป็นเงิน 312,706 บาท โจทก์ที่ 4ได้รับบาดเจ็บเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 101,956 บาท โจทก์ที่ 4 ขาดรายได้เนื่องจากไปทำงานตามปกติได้ในขณะได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 33,200 บาท อาการป่วยของโจทก์ที่ 4 ยังไม่หายเป็นปกติ แพทย์แนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลอีกซึ่งประมาณว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกเป็นเงิน30,000 บาท ขาของโจทก์ที่ 4 บาดเจ็บ ทำให้โจทก์ที่ 4 เสียบุคลิกไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิมคิดค่าเสียหายเป็นเงิน70,000 บาท รวมค่าเสียหายโจทก์ที่ 4 เป็นเงินทั้งสิ้น 235,156 บาทโจทก์ที่ 5 ได้รับบาดเจ็บเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 16,328 บาท ประสาทตาของโจทก์ที่ 5 พิการ บำบัดไม่หายคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ระหว่างได้รับบาดเจ็บโจทก์ที่ 5 ไม่สามารถทำงานภายในบ้านได้ตามปกติต้องจ้างคนใช้ทำงานแทนเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาทรวมค่าเสียหายโจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 78,328 บาท โจทก์ทั้งห้าทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 436,200 บาท และร่วมกันชำระค่าเช่ารถยนต์ในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ไม่มีรถใช้ในอัตราวันละ 100 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระหนี้ดังกล่าว ให้ชำระเงินจำนวน3,506 บาท (ที่ถูก 2,515 บาท) แก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน312,706 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ชำระเงินจำนวน 235,156 บาท แก่โจทก์ที่ 4 และชำระเงินจำนวน 78,328 บาท แก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยที่ 1 ให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและมิได้มีผลประโยชน์ในการเดินรถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032 นครปฐม แต่รถคันดังกล่าวเป็นรถที่นำมาเข้าร่วมกับจำเลยที 1 ในนามของบุคคลอื่น ซึ่งจำเลยที่ 1 ขอให้เรียกมาเป็นจำเลยร่วมด้วยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มิใช่ลูกจ้างที่กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตาม เหตุรถยนต์ชนกันมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 หากแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายสุวิสิทธิ์ผู้ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแต่ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งห้าไม่สูงเท่าจำนวนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้แก่บุคคลอื่น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032นครปฐม เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสุวิสิทธิ์ กัญญามานนท์ แต่เพียงฝ่ายเดียว รถโจทก์ที่ 1มิได้เสียหายตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง ส่วนในสำนวนหลังจำเลยที่ 2ยื่นคำให้การเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 สำหรับจำเลยที่ 2 จากสารบบความเนื่องจากโจทก์ที่ 2ถึงที่ 5 มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางอนงค์ ศรีสุขุมบวรชัย ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032 นครปฐม เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การในสำนวนแรก ส่วนในสำนวนหลังจำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมมิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2รถยนต์โดยสารสาธารณะคันหมายเลขทะเบียน 10-0032 นครปฐม จำเลยร่วมได้ให้นายสำเริง เสียบทวี เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุนานแล้วแต่ที่ยังมิได้โอนสิทธิการเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปให้เพราะนายสำเริงชำระค่าเช่าซื้อยังไม่หมด จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในเหตุละเมิดตามฟ้อง เหตุละเมิดมิใช่เกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 หากแต่เกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายสุวิสิทธิ์ กัญญามานนท์ ผู้ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 4 ก-2345 กรุงเทพมหานคร และคดีของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 182,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 27 มีนาคม 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 667 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน146,937 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 91,704 บาท และแก่โจทก์ที่ 5จำนวน 42,217 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 แต่ละคนได้รับ นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 1 เมษายน 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 สำหรับจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกาทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกาข้อแรกว่าในคดีอาญาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสุวิสิทธิ์ ผู้ตายขับรถประมาทมากกว่าจำเลยที่ 2 ฉะนั้นฝ่ายผู้ตายจำต้องรับผิดมากกว่าโดยรับผิด 90 เปอร์เซ็นต์ ของค่าเสียหายทั้งหมดฝ่ายจำเลยที่ 2 สมควรรับผิดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของค่าเสียหายทั้งหมด ฎีกาข้อนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วแต่อย่างใด ปรากฏว่าในคดีอาญาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถซึ่งจำเลยที่ 2 ขับชนกับรถซึ่งผู้ตายขับ ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ปรากฏตามคำฟ้องว่าผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย และข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่รถชนกันนั้นเป็นเพราะผู้ตายกลับรถกลางถนนในเขตชุมนุมชน ผู้ตายจึงเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มาก กรณีมีเหตุอันควรปรานีรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 เห็นว่า ศาลฎีกามิได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายกระทำโดยประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเพียงแต่ให้เหตุผลว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดอยู่มาก ควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นคิดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 3 จนบรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 8 ปีความจริง โจทก์ที่ 3 ควรได้รับค่าเสียหายจนถึงบรรลุนิติภาวะเป็นเวลาเพียง 7 ปี ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้นค่าเสียหายจึงต้องลดลงอีก 24,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงไม่ถูกต้อง ข้อนี้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2และจำเลยร่วมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมในข้อนี้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท เหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 3จนถึงอายุ 20 ปี เป็นเวลา 8 ปี รวมเป็นเงิน 192,000 บาทศาลอุทธรณ์ตรวจสอบเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3เกิดวันที่ 24 กันยายน 2513 นับถึงวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 3 มีอายุ 13 ปีเศษแล้ว เห็นควรพิจารณากำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เสียใหม่เป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นเงิน 168,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 รายการอื่นแล้ว เป็นเงิน 196,406 บาท และกรณีนี้จำเลยที่ 2 ควรรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพียง 2 ใน 3 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 3เพียง 7 ปี จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3จะต้องลดลง แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขจำนวนเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3จำนวน 130,937.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share