คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7502/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีตามคำฟ้องของโจทก์หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา601ไม่บทบัญญัติแห่งมาตรา601นั้นใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตามมาตรา600กล่าวคือถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่จ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน1ปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นแต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษโจทก์และจำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหากถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นเป็นกรณีที่จำเลยต้องรับผิดและจำเลยได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์แล้วไม่ทำการซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งโจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นทำแทนและเรียกค่าจ้างที่ต้องเสียไปเพราะจ้างผู้อื่นทำแทนนั้นได้เมื่อมีข้อสัญญาตกลงกันไว้เช่นนี้และจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญาซึ่งเข้าลักษณะสัญญาจ้างธรรมดาโจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยผู้รับจ้างรับผิดต่อโจทก์ได้กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2526 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ให้ก่อสร้างโรงเก็บพัสดุ บ้านพักพนักงานรั้วลวดหนาม ถมดิน ทำถนน และลานคอนกรีตเสริมเหล็กที่การไฟฟ้ารังสิต จังหวัดปทุมธานี ในราคา 15,400,000 บาทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 770,000 บาท ตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาและสัญญาค้ำประกัน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 4 สัญญาจ้างเหมาดังกล่าวข้อ 5 ระบุว่าภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นแก่งานจ้างเพราะทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระไม่ดี ถ้าไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือ โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นทำการแทนโดยจำเลยยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างเท่าที่จ้างจริงโดยสิ้นเชิง คณะกรรมการของโจทก์ตรวจรับงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2527 ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันดังกล่าวโจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ให้แก้ไขสิ่งบกพร่องของงานก่อสร้างหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไขให้บางส่วนคงค้างการซ่อมผิวพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กโรงเก็บพัสดุหลังที่ 1เนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร และผิวพื้นถนนเนื้อที่ 15,159.75ตารางเมตร โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการซ่อมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งสองว่าจะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมคิดเป็นเงินประมาณ 197,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และ 8 และโจทก์ได้จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสามชุกก่อสร้างให้เป็นผู้ซ่อมในราคา 197,000 บาท ตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าจ้างดังกล่าวแล้ว ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9, 10, 11และ 12 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยเช่นเดิม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 197,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การได้ใจความรวมกันว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น กล่าวคือ โจทก์ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของงานที่จ้างเหมาจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2528 หรือวันที่ 1 ธันวาคม 2529อันเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งพ้นปีหนึ่งดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด อย่างไร และเพราะเหตุใดจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาโดยส่งมอบงานให้แก่โจทก์และคณะกรรมการของโจทก์ได้ตรวจรับงานถูกต้องแล้ว โจทก์ใช้โรงเก็บพัสดุและถนนไม่ถูกต้องกับขนาดและสภาพการรับน้ำหนักของพื้นผิว ทำให้พื้นผิวโรงเก็บพัสดุและถนนชำรุดเสียหายอีกทั้งโจทก์ยังใช้งานโดยไม่ดูแลบำรุงรักษา ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดจากการใช้งานอย่างปกติธรรมดา จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเกินความเป็นจริงหากจำเลยที่ 1 ซ่อมเองค่าเสียหายดังกล่าวจะไม่เกิน 30,000 บาทจำเลยที่ 2 หมดภาระผูกพันไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้วแต่โจทก์ไม่คืนสัญญาค้ำประกันให้ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้หลายประเด็นรวมทั้งประเด็นข้อพิพาทที่ว่า “คดีโจทก์ขาดอายุความต้องห้ามมิให้ฟ้องแล้วหรือไม่” และเห็นว่าข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งสำนวนจึงให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องจ้างทำของโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 600 ซึ่งมาตรา 601 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมพ้นความรับผิดไปด้วยพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารท้ายหมายเลข 3 ข้อ 5ระบุว่า “ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้จ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างรับทำแก้ไขใหม่โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของ สัมภาระ และค่าแรงงานจากผู้จ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่รีบจัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้จ้างเป็นต้นไป ผู้จ้างมีอำนาจที่จะจ้างผู้อื่นทำการแทนต่อไปได้โดยผู้รับจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างเท่าที่จ้างจริงโดยสิ้นเชิง” โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างตามข้อสัญญาดังกล่าวว่าภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการของโจทก์ตรวจรับงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสิ่งบกพร่องหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไขให้บางส่วน คงค้างการซ่อมผิวพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กโรงเก็บพัสดุหลังที่ 1 เนื้อที่ประมาณ1,000 ตารางเมตร และผิวพื้นถนนเนื้อที่ 15,159.75 ตารางเมตรโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการซ่อม แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย โจทก์จึงแจ้งแก่จำเลยทั้งสองว่าจะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมคิดเป็นเงินประมาณ 197,000 บาท และได้จ้างเหมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสามชุกก่อสร้างเป็นผู้ซ่อมแล้ว ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างดังกล่าว ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึงหมายเลข 12จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ จึงต้องฟ้องขอให้ศาลบังคับ ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องของโจทก์หาใช่เป็นการฟ้องร้องค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 ไม่ บทบัญญัติแห่งมาตรา 601 นั้นใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 กล่าวคือถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา เมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วปรากฏว่างานที่จ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลัง จึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น แต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นซึ่งผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1ต้องรับผิด และจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์แล้วไม่ทำการซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นทำแทนและเรียกค่าจ้างที่ต้องเสียไปเพราะจ้างผู้อื่นทำแทนนั้นได้ เมื่อมีข้อสัญญาตกลงกันไว้เช่นนี้และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติตาม ย่อมถือว่าเป็นการผิดสัญญาซึ่งเข้าลักษณะสัญญาจ้างธรรมดา โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีได้ความตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันว่าโจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ให้แก้ไขสิ่งบกพร่องของงานที่ก่อสร้างหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไขให้บางส่วนคงค้างการซ่อมพื้นผิวคอนกรีตเสริมเหล็กโรงเก็บพัสดุหลังที่ 1และถนน โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 เร่งรัดทำการซ่อมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงจ้างผู้อื่นซ่อมแซมแทนจำเลยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 คดีโจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share