แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปเพียง 1 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งระยะเวลาที่ขอขยายดังกล่าวประกอบกับเป็นการขอขยายเป็นครั้งแรกย่อมอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะคาดหมายว่าศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามขอ โจทก์จึงเชื่อโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามขอ แต่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาน้อยกว่าที่ขอ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าการที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งที่ 2 ได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ขยายในครั้งแรกเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 เพราะเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้เข้าพิธีแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับผู้ชายอื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 31 ธันว่าคม 2545 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ครั้นวันที่ 23 ธันวาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาออกไปอีกศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2545 มิใช่วันที่ 31 ธันวาคม 2545 ดังที่โจทก์เข้าใจ โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ทั้งที่ตามคำร้องมิใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นเพียงพฤติการณ์พิเศษ โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอขยายก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายในครั้งแรก เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องภายหลังระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง จึงเป็นการไม่ชอบให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 มกราคม 2546 ขอให้พิจารณาคำสั่งใหม่ อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และต่อมามีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2546 แล้วพิจารณาสั่งตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ รวมทั้งมีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2546 ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ของโจทก์ออกไปตามคำขอ กับให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ใหม่ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้โดยเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า นายจิระศักดิ์พยานที่โจทก์นำมาไต่สวนเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 พยานได้ไปติดต่อขอทราบคำสั่งศาลโดยเปิดสมุดที่เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นได้บันทึกคำสั่งศาลดู พบว่าในช่องที่ต้องบันทึกคำสั่งของศาลชั้นต้นว่าอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่มีเพียงข้อความที่ประทับด้วยตรายางว่า “อนุญาตให้ขยายอุทธรณ์ได้ถึงวันที่…” โดยไม่มีการระบุหรือกรอกวัน เดือน ปีที่อนุญาตไว้เหมือนคดีอื่น ทั้งพยานปากนี้ยังเบิกความยืนยันว่า ได้สอบถามนางสาวจิตราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานอุทธรณ์ฎีกาแล้ว ได้รับแจ้งว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตามขอ ข้อเท็จจริงที่พยานปากนี้เบิกความดังกล่าวนอกจากจะสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจกท์ปากนายวัฒนา งอกขาว ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นเจ้าของสำนักงานทนายความที่นายจีระศักดิ์ทำงานอยู่แล้ว จำเลยเองก็ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบพยานของตนให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งนางสาวจิตราเจ้าหน้าที่ศาลที่มาเบิกความเป็นพยานโจกท์ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ปากนายจีระศักดิ์เบิกความ ทั้งที่ข้อเท็จจริงบางตอนที่พยานปากดังกล่าวเบิกความมีผลกระทบถึงนางสาวจิตราโดยตรง เมื่อพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ก็พบว่าโจทก์ขอขยายระยะเวลาออกไปเพียง 1 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งระยะเวลาที่ขอขยายดังกล่าวประกอบกับเป็นการขอขยายเป็นครั้งแรกย่อมอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะคาดหมายว่าศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามขอ ทั้งเมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่โจทก์มายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ประกอบแล้วยิ่งทำให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาได้ตามขอ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาถือว่าการที่โจทก์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งที่ 2 ได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ขยายในครั้งแรกเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ขยายะระยะเวลาได้ครั้งที่ 2 เพราะเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ