คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7463/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 บัญญัติว่า คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าการที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าปรับตามสัญญาเช่าวันละ 200 บาท ของค่าเช่าแต่ละงวดที่ยังไม่ได้ชำระกับค่าปรับจำนวนหนึ่งในสิบของค่าเช่าที่เหลือตลอดอายุของสัญญาเช่าเป็นการฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาเช่าที่กำหนดให้จำเลยผู้เช่าต้องชำระเพราะเหตุผิดสัญญาจึงอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 563 ต้องใช้อายุความหกเดือน แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่า มิใช่กรณีฟ้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่าเมื่อกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จึงไม่ขาดอายุความและเมื่อค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องใช้แก่โจทก์เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกชำระกันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่าและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันคำพิพากษาจึงต้องมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอหักกลบลบหนี้ค่าเสียหายและค่าปรับกับโจทก์จากเงินที่จำเลยที่ 1 วางเป็นประกันตามสัญญาเช่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ขอหักกลบลบหนี้มาในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการหักกลบลบหนี้ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้มาและศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งนั้นชอบแล้วศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถขุดไฮดรอลิกกับโจทก์ 1 คัน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เพียง 10 งวดเศษ แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 11 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน 2,736,108 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดวันที่ 27 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,747,361.02 บาท รวมต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย 4,483,469.02 บาท และให้ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 1,530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าปรับเนื่องจากการผิดนัด 310,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญา 273,610.80 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนหรือชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 494,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 4,850 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถขุดไฮดรอลิกกับโจทก์ 1 คัน มีกำหนด 36 เดือน ตกลงชำระค่าเช่าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม งวดที่ 1 ถึงที่ 30 เดือนละ 107,500 บาท งวดที่ 31 ถึงที่ 36 เดือนละ 4,335 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งในวันทำสัญญาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้วางเงินประกันไว้ 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ได้ยึดรถขุดคืนมาจากจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ร่วมกันชำระเงินค่าปรับตามข้อตกลงในสัญญาเช่า ข้อ 15 (1) และข้อ 16 วรรคสอง เป็นเงิน 300,000 บาท
คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า คดีโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าปรับดังกล่าวขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 บัญญัติว่า คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขาดประโยชน์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับอันสืบเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าเท่านั้น มิใช่กรณีฟ้องเกี่ยวแก่สัญญาเช่าตามมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปี ตามมาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าขาดประโยชน์จึงไม่ขาดอายุความ แต่สำหรับที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าปรับ วันละ 200 บาท ของค่าเช่าแต่ละงวดที่ยังไม่ได้ชำระจนครบถ้วน กับค่าปรับตามจำนวนหนึ่งในสิบของค่าเช่าส่วนที่เหลือตลอดอายุของสัญญาเช่านั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาเช่าที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าต้องชำระเพราะเหตุผิดสัญญา จึงอยู่ในบังคับมาตรา 563 ต้องใช้อายุความหกเดือน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งคืนรถขุดไฮดรอลิกที่เช่าแก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 การที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จึงพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าปรับดังกล่าวจึงขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอหักกลบลบหนี้ค่าเสียหายและค่าปรับกับโจทก์จากเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำมาวางเป็นประกันตามสัญญาเช่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ขอหักกลบลบหนี้มาในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการหักกลบลบหนี้ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้มาและศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตราม 225 วรรคหนึ่งนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้อีกเช่นกัน อนึ่ง เมื่อค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นมูลหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกชำระหนี้กันได้ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่า และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกัน จึงให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมที่มิได้ฎีกาด้วย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม2544) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share