แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทะเลาะกับผู้ตายอยู่ริมรั้ว จำเลยที่ 2 ถือมีดพร้าวิ่งลงจากบ้านพร้อมกับร้องว่าฟันให้ตาย ๆ การแสดงออกด้วยกิริยาและคำพูดของจำเลยที่ 2 ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะฆ่าผู้ตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 คว้ามีดพร้าจากมือจำเลยที่ 2 แหวกรั้วเข้าไปฟันผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำที่สมเจตนาของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ฟันผู้ตายแล้ว ได้โยนมีดพร้าข้ามรั้วมาให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้พามีดพร้าวิ่งหนีไป การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้วจึงถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกับจำเลยที่ 1ฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยที่ 3 ได้วิ่งมาและพูดยุยงให้จำเลยที่ 1 ฟันผู้ตายให้ตาย หลังจากจำเลยที่ 1 ลงมือทำร้ายผู้ตายได้1 แผล จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำผิด เพราะจำเลยที่ 1 ได้เริ่มลงมือกระทำผิดไปแล้ว คำยุยงของจำเลยที่ 3 จึงเป็นเพียงสนับสนุนเร้าใจให้จำเลยที่ 1 มุ่งกระทำร้ายต่อผู้ตายให้ถึงตายหนักแน่นยิ่งขึ้นเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงฟังได้เพียงว่าเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 1กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6-7 /2512
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจร่วมกันใช้มีดพร้าฟันทำร้ายนางขำสายวารีโดยเจตนาฆ่า นางขำได้ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ และ ๓ ให้การปฏิเสธต่อสู้อ้างฐานที่อยู่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒, ๓ ยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ ๑ กระทำผิด จำเลยที่ ๑ ฟันผู้ตายตาย จำเลยที่ ๒, ๓จึงมีความผิดเสมือนเป็นตัวการ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓, ๘๔ จำคุกจำเลยที่ ๑ ตลอดชีวิตลดฐานรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘, ๕๒ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ สิบสองปี และให้จำคุกจำเลยที่ ๒, ๓ คนละสิบสองปี
จำเลยที่ ๒, ๓ อุทธรณ์
จำเลยที่ ๑ ไม่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น และเห็นว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ส่วนจำเลยที่ ๓ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ ๓ ร้องบอกจำเลยที่ ๑ ว่าฟันให้ตาย ๆ” ในขณะที่จำเลยที่ ๑กำลังทำร้ายผู้ตายอยู่แล้ว จึงเป็นแต่เพียงทำให้จำเลยที่ ๑ มีใจป้ำขึ้น จำเลยที่ ๓ ควรมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๐/๒๔๖๓ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๖ จำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนดสิบปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓
จำเลยที่ ๒, ๓ ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ด่าผู้ตาย เมื่อผู้ตายด่าตอบจำเลยที่ ๑ ก็ใช้มีดพร้าฟันผู้ตายถึงแก่ความตาย และเห็นว่าการที่จำเลยที่ ๒ ถือมีดพร้าวิ่งลงจากบ้านพร้อมกับร้องว่าฟันให้ตาย ๆการแสดงออกด้วยกิริยาและคำพูดของจำเลยที่ ๒ ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ มีเจตนาจะฆ่าผู้ตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ คว้ามีดพร้าจากมือจำเลยที่ ๒ แหวกรั้วเข้าไปฟันผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำที่สมเจตนาของจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๑ ฟันผู้ตายแล้วได้โยนมีดพร้าข้ามรั้วมาให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ก็เป็นผู้พามีดพร้าวิ่งหนีไป การกระทำของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวแล้วจึงถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกับจำเลยที่ ๑ ฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ส่วนจำเลยที่ ๓ ได้วิ่งมาและพูดยุยงให้จำเลยที่ ๑ ฟันผู้ตายให้ตายหลังจากจำเลยที่ ๑ ลงมือทำร้ายผู้ตายได้ ๑ แผล จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๓ มิได้เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ ๑ กระทำผิด เพราะจำเลยที่ ๑ ได้เริ่มลงมือกระทำผิดไปแล้ว คำยุยงของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นเพียงสนับสนุนเร้าใจให้จำเลยที่ ๑ มุ่งกระทำร้ายต่อผู้ตายให้ถึงตายหนักแน่นยิ่งขึ้นเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ ๓ จึงฟังได้เพียงว่าเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ ๑ กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๖
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์จำเลย.