คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7318/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้พนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้นตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่จะได้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาดโดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 246 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเมื่อคำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมือเปล่าจำนวน 2 แปลง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลงที่ถูกยึดโดยที่ดินดังกล่าวได้รับมรดกจากบิดามารดา ผู้ร้องไม่ทราบว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวของผู้ร้องถูกยึดทรัพย์ และโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงที่ 1 ไปจากการขายทอดตลาดโดยทราบอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง การปฏิบัติของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการนำยึดเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ขอให้นัดไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการนำยึดที่ดินที่ผิดกระบวนการและมิชอบ ให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าขึ้นศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ขอให้ยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงเกี่ยวกับการบังคับคดีครั้งนี้ อันมีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องไปในที่สุด จึงเป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์นั่นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด และการจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องได้นั้น ตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง ก็กำหนดให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดแปลงที่ 1 ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือแปลงที่ 1 เนื้อที่ 90 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และแปลงที่ 2 เนื้อที่ 70 ตารางวา ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยวินิจฉัยว่ามีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1 ว่า กรณีของผู้ร้องเป็นการร้องขัดทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายที่ดินแปลงที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่จะได้เอาทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด โดยมิได้วินิจฉัยถึงที่ดินแปลงที่ 2 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์มาด้วยว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 และเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยเห็นว่า สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2545 ที่ดินแปลงนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังขายทอดตลาดไม่ได้และอยู่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดใหม่ ถือได้ว่าสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 นี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งฉบับโดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งรวมถึงคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาท แต่ปรากฏตามคำร้องว่าผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลมาแบบคดีไม่มีทุนทรัพย์เพียง 200 บาท จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเสียให้ถูกต้องก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าขึ้นศาลสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 มาชำระเสียให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร แล้วจึงให้รับคำร้องของผู้ร้องสำหรับที่ดินแปลงที่ 2 ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หากผู้ร้องไม่ดำเนินการให้จำหน่ายคดีผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share