คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

การที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายนั้นหาใช่ว่าจะต้องเป็นความผิดฐานห้ามธนาคารไม่ให้ใช้เงินตามเช็คโดยทุจริตเสมอไปไม่แต่อาจเป็นความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นก็ได้ คดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นหากนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถึงวันฟ้อง ยังไม่เกินสามเดือนคดีก็ไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันเป็น 4 กระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเชื่อว่า เช็คทั้งสี่ฉบับจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์มีเช็ค 2 ฉบับที่จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิด 2 กระทง ให้ลงโทษกระทงละ 2 เดือนรวมจำคุก4 เดือน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีเกี่ยวกับเช็ค 2 ฉบับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 เดือนไม่เกินกระทงละห้าปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3(1)(2) และ (3) แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย อันเป็นความผิดฐานห้ามธนาคารไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(5) ซึ่งโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการที่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์และโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายนั้น หาใช่จะต้องมีความผิดฐานห้ามธนาคารไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตเสมอไปไม่ เพราะการสั่งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คนั้นอาจกระทำด้วยความประสงค์ต่างกัน การสั่งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คก็เป็นความผิดได้ดังนั้นถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น และจำเลยไปสั่งห้ามธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คแล้วการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิด ซึ่งศาลล่างทั้งสองมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามที่พิจารณาได้ความ ที่จำเลยฎีกาว่า คดีสำหรับเช็คฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2525 ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า ในเรื่องอายุความนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยแต่เพียงว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ไม่ได้วินิจฉัยถึงรายละเอียดว่าเหตุใดคดีจึงไม่ขาดอายุความก็ตามก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นนั้น โดยถือว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินสามเดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่ง่า ในวันที่โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินในวันดังกล่าว จำเลยมีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็ค2 ฉบับนี้ได้หากจำเลยไม่มีคำสั่งห้ามธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน เช็คทั้งสองฉบับย่อมเรียกเก็บเงินได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่กรณีออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น การออกเช็คของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดข้อกฎหมายนี้ จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายืน

Share