คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14450-14482/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง โดยสภาพการจ้างหมายความรวมถึงค่าจ้างด้วย คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ใช้อำนาจกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างที่ทำงานก่อนเกษียณอายุเกิน 15 ปี เท่ากับค่าจ้างที่ได้รับก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวน 300 วัน ดังนั้น ค่าจ้างทุกประเภทไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรย่อมเป็นค่าจ้างที่จะนำมาใช้ในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณทั้งสิ้น การที่นายจ้างจัดทำบัญชีเงินเดือนแยกประเภทค่าจ้างเป็นหลายบัญชีและเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปไม่เป็นผลให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าจ้างในบัญชีใดบัญชีหนึ่งมาคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน
สำหรับเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง เงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้น ในการจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานนายจ้างต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสหภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องนำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสิบสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสามสิบสาม
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจโจทก์ทั้งสามสิบสามเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานเป็นเวลาเกินกว่า 15 ปี ก่อนเกษียณอายุการทำงาน นอกจากเงินเดือนตามตำแหน่งแล้วโจทก์ทั้งสามสิบสามยังได้รับเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าวิชาชีพ เงินพิเศษเต็มขั้น เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่ง เงินรางวัลพิเศษประจำปี เงินเพิ่มค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบสามเกษียณอายุ จำเลยจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานให้โดยนำเอาเฉพาะเงินเดือนตามตำแหน่งมาคำนวณ และวินิจฉัยว่า เงินประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 29 และที่ 30 เงินเพิ่มค่าวิชาชีพของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 22 โจทก์ที่ 24 ถึงที่ 27 และที่ 33 เงินเพิ่มค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 16 และที่ 30 กับเงินรางวัลพิเศษประจำปีของโจทก์ทั้งสามสิบสามเป็นค่าจ้างที่จำเลยต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานด้วย ส่วนเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นของโจทก์ที่ 1 และที่ 7 แม้จะเป็นค่าจ้าง แต่เนื่องจากมีข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.17 ว่า เงินตอบแทนพิเศษเต็มขั้นไม่ให้นำไปรวมเป็นฐานเงินเดือนหรือค่าตอบแทนในการทำงานกรณีอื่นๆ ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธินำไปใช้เป็นฐานคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานดังกล่าว ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ไม่เป็นค่าจ้างที่จะมีสิทธินำมาคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งสาม สิบสาม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 29 ถึง 32 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า เงินประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 29 ที่ 30 เงินเพิ่มค่าวิชาชีพของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 22 โจทก์ที่ 24 ถึงที่ 27 และที่ 33 เงินค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 16 และที่ 33 เงินรางวัลพิเศษประจำปีของโจทก์ทั้งสามสิบสาม ตามที่จำเลยอุทธรณ์ และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่ง ตามที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์เป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (1) ประกอบประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจข้อ 4 และข้อ 61 หรือไม่… จะเห็นได้ว่าจำเลยได้จัดทำโครงสร้างบัญชีผลประโยชน์ค่าตอบแทนการทำงานโดยมีบัญชีเงินเดือนตามตำแหน่งเป็นพื้นฐานแล้ว พนักงานจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มในส่วนใดย่อมขึ้นกับคุณสมบัติตามความรู้ ความสามารถ ความชำนาญพิเศษ และความรับผิดชอบ ปัญหาว่า เงินเพิ่มอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนตามบัญชีพื้นฐานจะถือว่าเป็นค่าจ้างด้วยหรือไม่ ย่อมพิจารณาตามความหมายแพ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นไปตามคำนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 ได้นำคำนิยามดังกล่ามาประกาศไว้ในประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ โดย “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุนประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใดและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้น จึงเห็นว่า เงินเพิ่มค่าวิชาชีพ เงินค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เงินเพิ่มประจำตำแหน่งผู้บริหาร เงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้น เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์นั้น แม้จะมีวิธีการจ่ายเป็นเงินจำนวนคงที่แน่นอนทุกสิ้นเดือนพร้อมกับเงินเดือน แต่เงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสวัสดิการในด้านการคมนาคมให้แก่ลูกจ้างในระดับสูงเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และเหมาะสมกับตำแหน่งมิได้มีวัตถุประสงค์จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง เหตุผลที่จำเลยเปลี่ยนจากการจัดหารถยนต์พร้อมคนขับและการดูแลซ่อมบำรุงรถมาเป็นการเหมาจ่ายเป็นเงินจำนวนที่แน่นอน ก็เป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณหรือต้นทุนของจำเลยในส่วนนี้เพื่อให้สามารถกำหนดได้แน่นอนไม่ผันแปรในลักษณะที่ควบคุมได้ยาก เช่น ค่าล่วงเวลาคนขับรถ ค่าซ่อมบำรุงรักษารถ เป็นต้น และเพื่อลดปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดสืบเนื่อง โดยให้เป็นดุลพินิจและภาระของลูกจ้างที่จะใช้เงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินค่ารถยังคงอยู่เช่นเดิม แม้จะเปลี่ยนจากวิธีการจัดรถยนต์พร้อมคนขับเป็นการจ่ายเงินแทนก็ไม่ทำให้การจัดสวัสดิการดังกล่าวกลายเป็นการจ่ายค่าจ้างเพิ่มไปได้ สำหรับเงินรางวัลพิเศษประจำหรือเงินโบนัสโดยปกติจะจ่ายต่อเมื่อนายจ้างมีกำไรเพียงพอที่จะสามารถนำมาจัดสรรได้ ในกรณีนี้ฟังได้ว่า จำเลยได้กำหนดเงินรางวัลพิเศษประจำปีไว้ล่วงหน้า แม้ไม่มีกำไรก็จ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยเรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนการลงทุนเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เห็นว่า เงินรางวัลพิเศษประจำปีนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้างที่จะได้รับเงินรางวัลเนื่องจากได้ทุ่มเทอุทิศเวลาทำงานให้แก่นายจ้างด้วยความขยันขันแย็งตลอดเวลาที่ผ่านมา การที่จำเลยตกลงจะจ่ายเงินรางวัลให้แม้ไม่มีกำไรก็เท่ากับเป็นการให้หลักประกันแก่ลูกจ้างล่วงหน้าว่าจะได้รางวัลแน่นอน หากขาดทุนนายจ้างยินยอมแบกรับเงินรางวัลเสียเอง ซึ่งก็เป็นไปตามข้อตกลงของจำเลยกับลูกจ้าง การจ่ายเงินรางวัลเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของการวางแผนการเงินและการลงทุนของนายจ้างในระยะยาว จริงอยู่ในการบริหารกิจการเชิงธุรกิจผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบต่อผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนย่อมจะไม่ยินยอมจ่ายเงินรางวัลพิเศษให้แก่ลูกจ้างหากไม่มีกำไรเพื่อรักษาดุลยภาพทางการเงินของกิจการไว้ให้มั่นคง และไม่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่กิจการนั้นก็ตามแต่การที่ผู้บริหารยินยอมจ่ายเงินรางวัลแก่ลูกจ้างทั้งที่ไม่มีกำไรอาจมีเหตุผลอื่น เช่นกรณีของจำเลยตกลงจ่ายเงินรางวัลพิเศษของปี 2548 แก่ลูกจ้าง 3.75 เท่า โดยมีเงื่อนไขต่อรองกับลูกจ้างว่า ลูกจ้างจะไม่เรียกร้องปรับเพิ่มเงินเดือนตามการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการในระยะเวลา 2 ปี เท่ากับเอาเงินรางวัลพิเศษประจำปีแลกกับการไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งกรณีนี้ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเงินรางวัลพิเศษดังกล่าวจะกลายเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาปกติ หรือเป็นค่าจ้างตามที่ศาลแรงงานกลางให้เหตุผล นอกจากนี้การจ่ายเงินรางวัลประจำปีโดยมีเหตุอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ลูกจ้าง ย่อมไม่ทำให้หลักการและเหตุผลของการจ่ายเงินส่วนนี้เปลี่ยนไปและทำให้กลายเป็นค่าจ้างไปได้ ส่วนผู้บริหารตัวแทนนายจ้างจะตกลงในการเจรจาต่อรองกับลูกจ้างที่ยินยอมจ่ายเงินรางวัลพิเศษทั้งที่ไม่มีกำไร จะมีเหตุผลอันสมควรและรับฟังได้หรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อนายจ้างหรือต่อผู้ลงทุนอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้น เงินรางวัลพิเศษประจำปีจึงไม่เป็นค่าจ้าง
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าจ้างทุกประเภทที่กล่าวข้างต้น โจทก์ที่ได้รับค่าจ้างประเภทนั้นๆ มีสิทธินำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุหรือไม่ และหากนายจ้างตกลงยกเว้นไม่ให้นำว่าจ้างประเภทเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาเป็นฐานคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ ข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ในเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง โดยสภาพการจ้างหมายความรวมถึงค่าจ้างด้วย คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ใช้อำนาจกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างที่ทำงานก่อนเกษียณอายุเกิน 15 ปี เท่ากับค่าจ้างที่ได้รับก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวน 300 วัน ดังนั้น ในเบื้องต้นเห็นว่า ค่าจ้างทุกประเภทตามที่ได้วินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรย่อมเป็นค่าจ้างที่จะนำมาใช้ในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณทั้งสิ้น การที่นายจ้างจัดทำบัญชีเงินเดือนแยกประเภทค่าจ้างเป็นหลายบัญชีและเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปไม่เป็นผลให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าจ้างในบัญชีใดบัญชีหนึ่งมาคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน อย่างไรก็ตามสำหรับเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้น แม้ได้ความว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดไม่ให้นำเอาเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาคิดคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ แต่เนื่องจากเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง เงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้น ในการจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน นายจ้างต้องจ่ายให้ถุกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมกับค่าจ้าง เพื่อคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสหภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องนำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานด้วย
ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางให้นำเงินประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 29 ที่ 30 เงินเพิ่มค่าวิชาชีพของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 22 โจทก์ที่ 24 ถึงที่ 27 และที่ 33 เงินค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 16 และที่ 33 และไม่ให้นำค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 มาเป็นฐานคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเพราะเกษียณอายุของโจทก์แต่ละคนตามตำแหน่งจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ที่ศาลแรงงานกลางให้นำเงินรางวัลพิเศษประจำปีของโจทก์ทั้งสามสิบสามกับไม่ให้นำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นของโจทก์ที่ 1 และที่ 7 มาเป็นฐานคำนวณเงินค่าตอบแทนความชอบในการทำงานดังกล่าวด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 7 และที่ 3 ที่ 4 และอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาสุดท้ายมีว่า การคิดดอกเบี้ยค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเพราะเกณีษณอายุของโจทก์ที่ 29 ถึงที่ 32 ต้องคิดตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า โจทก์ที่ 29 ถึงที่ 32 เกษียณอายุในปี 2549 จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนความชอบในการทำงานนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 พร้อมด้วยดอกเบี้ย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 29 ถึงที่ 32 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเพราะเกษียณอายุส่วนที่ขาดโดยคำนวณจากเงินประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 โจทก์ที่ 29 ที่ 30 เงินเพิ่มค่าวิชาชีพของโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 22 โจทก์ที่ 24 ถึงที่ 27 และที่ 33 เงินค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 16 และที่ 33 และเงินที่เพิ่มพิเศษเต็มขั้นของโจทก์ที่ 1 และที่ 7 แต่ไม่ให้นำเงินรางวัลพิเศษประจำปีของโจทก์ทั้งสามสิบสาม และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 มาคำนวณด้วย สำหรับโจทก์ที่ 29 ถึงที่ 32 ให้คิดดอกเบี้ยของต้นเงินค่าตอบแทนความชอบที่ได้รับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share